คำถาม…เรียนถาม รศ.ดร. @DWinai ตามที่มีกระ แสร์วิพากษ์กันอยู่ในขณะนี้เกี่ยวกับเรื่องฮาลาลในสังคมมุสลิมจริงๆแล้วเราตรวจฮาลาลหรือเราตรวจฮารอมครับท่านคำตอบ… คงต้องเข้าใจความหมายของคำว่า “ปลอดภัย” กันก่อน ความปลอดภัย หมายถึง การที่ร่างกายปราศจากอุบัติภัยหรือทรัพย์สินปราศจากความเสียหายใดๆ ดังนั้น ความปลอดภัยจึงหมายถึงการปลอดจากภัยอันตราย จะตรวจสอบว่าปลอดภัยหรือไม่ก็ต้องดูว่ามีอันตรายไหม มาตรฐานสากลว่ากันตามนี้ จัดเป็นวิทยาการความปลอดภัย ไม่ใช่วิทยาการอันตราย วิธีคิดเป็นอย่างนั้นฉันใดฉันนั้น หากเปรียบฮาลาลคือความปลอดภัย หะรอมคืออันตราย การตรวจสอบว่าฮาลาลหรือไม่ ก็ต้องตรวจว่ามีหะรอมปนเปื้อนไหม การตรวจสอบหะรอมมีทั้งหะรอมทางศาสนาและหะรอมทางวิทยาศาสตร์ โลกยุคใหม่ หะรอมทางวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นมาก จำเป็นต้องใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในการตรวจสอบ กระบวนการนี้เรียกว่า “วิทยาศาสตร์ฮาลาล” ไม่ใช่วิทยาศาสตร์หะรอม ยึดถือกันเป็นมาตรฐานทั่วโลก ไม่ตรวจฮาลาลแต่ตรวจหะรอม เช่นเดียวกับความปลอดภัย แทนที่จะตรวจความปลอดภัย กลับตรวจอันตราย ตรวจไม่พบอันตรายแล้วจึงบอกว่าปลอดภัย กรณีฮาลาล เมื่อตรวจว่าไม่มีหะรอมแล้ว นักวิทยาศาสตร์ฮาลาลจะไม่เป็นผู้บอกว่าฮาลาลหรือไม่ แต่ให้อุลามะฮฺหรือกอฎีเป็นผู้บอก เพราะอาจมีประเด็นอื่นในเชิงศาสนาอยู่อีก อุลามะฮฺคือนักวิชาการศาสนาที่เข้าใจเรื่องนั้นดี เข้าใจอัลกุรอาน อัลหะดิษ อัลอิจมะฮฺ และอัลกิยาส หลักการเป็นอย่างนั้นวิทยาศาสตร์ฮาลาลจึงตรวจหะรอม โดยเรียกว่า “วิทยาศาสตร์ฮาลาล” ไม่สามารถเรียกเป็นอื่นได้ ที่ผู้ถามกล่าวว่าเป็นกระแส แสดงว่ายังมีความไม่เข้าใจซึ่งเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากเป็นวิชาการเฉพาะทางจึงจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจเพราะเป็นเรื่องพื้นฐานในวิทยาการความปลอดภัย กระบวนการสร้างความปลอดภัยคือต้องกำจัดอันตรายทั้งปวง ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพิ่งรับรางวัลระดับยอดเยี่ยมด้านนวัตกรรมบริการของหน่วยราชการ (กพร.) ประจำปี พ.ศ.2563 นั่นคือการพัฒนา H number ซึ่งเป็นระบบเลือกวัตถุดิบที่ปลอดหะรอม ก่อนหน้านี้รับรางวัลระดับโลกด้านงานพัฒนาระบบการบริหารจัดการเพื่อปลอดหะรอมที่เรียกว่าระบบ HAL-Q ได้รับรางวัลระดับยอดเยี่ยมจาก กพร.และจากนายกรัฐมนตรีมาเลเซียในงาน World Halal Forum วิธีบริหารจัดการด้านความปลอดภัยเป็นอย่างนี้และเป็นมาตรฐานทั้งโลก ทำกันมาเป็นร้อยปีแล้ว ปัจจุบันมีห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ฮาลาลทั่วโลกนับร้อยแห่ง อินโดนีเซียมีเกือบ 50 แห่ง มาเลเซียมีจำนวนใกล้เคียงกัน ทุกแห่งทำหน้าที่ตรวจวิเคราะห์สิ่งหะรอมด้วยกันทั้งสิ้น ทว่าไม่มีแม้แต่แห่งเดียวที่เรียกตนเองว่าวิทยาศาสตร์หะรอม ไม่ต่างจากหน่วยงานด้านความปลอดภัยที่ทำงานตรวจสิ่งอันตราย โดยไม่มีหน่วยงานไหนเรียกหน่วยงานตนเองว่าหน่วยงานด้านอันตราย