ข้อมูลจากคณะแพทยศาสตร์ รามาธิบดี พบว่าอุบัติการณ์เกิดมะเร็งลำไส้ในคนไทย เป็นอันดับสี่ของการเกิดมะเร็งทั้งหมดรองจาก มะเร็งตับ, มะเร็งปอด และ มะเร็งเต้านม โดยพบผู้ป่วยรายใหม่ 11,496 ราย/ปี อัตราการเสียชีวิต 6,845 ราย/ปี ช่วงที่เกิดปัญหาโรคโค-วิดระบาดหนักเวลานี้ มะเร็งลำไส้อาจถูกลืมไปบ้างแต่ยังไม่ลดลง ห่วงเรื่องโค-วิดอย่าลืมมะเร็งลำไส้ใหญ่และมะเร็งอื่นก็แล้วกัน มีข้อมูลน่าสนใจจากงานวิจัยของทีมงานในคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวอชิงตัน วิทยาเขตเซ็นต์หลุยส์ สหรัฐอเมริกา ตีพิมพ์ในวารสาร Gut เดือนพฤษภาคม ค.ศ.2021 ระบุว่าหญิงอายุต่ำกว่า 50 ปีที่ดื่มน้ำอัดลมขนาด 300 มล.เป็นประจำสัปดาห์ละไม่น้อยกว่าสองกระป๋องเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่มากกว่าหญิงวัยเดียวกันที่ดื่มน้อยกว่าหนึ่งกระป๋องต่อสัปดาห์ถึงสองเท่า เมื่อนำข้อมูลมาคำนวณพบว่าหากดื่มน้ำอัดลมเพิ่มขึ้นหนึ่งกระป๋องทุกวันสามารถทำให้ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 16 ต่อหนึ่งกระป๋องที่ดื่ม หากอายุน้อยลงคือ 18-25 ปี ความเสี่ยงยิ่งเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 32 เอาเป็นว่าอายุยิ่งน้อย ความเสี่ยงต่อมะเร็งลำไส้ใหญ่ยิ่งเพิ่มขึ้น ข้อมูลนี้ได้มาจากงานวิจัยขนาดใหญ่ที่ทำต่อเนื่องกันยาวนานที่เรียกกันว่า Cohort study ในพยาบาลหญิงทั่วสหรัฐอเมริกา โดยมีพยาบาลหญิงเข้าร่วมโครงการจำนวน 116,500 คน ติดตามศึกษาจาก ค.ศ.1991-2015 ยาวนาน 24 ปี ทุกสี่ปีเก็บข้อมูลด้านการดื่มน้ำอัดลมกันสักครั้ง ผลการศึกษาพบว่าในจำนวนนี้มีผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่จำนวน 109 ราย เมื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์และคำนวณใหม่ทางสถิติจึงพบปัญหาของการดื่มน้ำอัดลมเติมน้ำตาลตามที่กล่าวข้างต้น ที่น่าห่วงคืออัตราการดื่มน้ำอัดลมในวัยรุ่นเพิ่มสูงขึ้นมาโดยตลอดซึ่งหมายความว่าในอนาคตอุบัติการณ์มะเร็งลำไส้ใหญ่จะยิ่งมีมากขึ้น นักวิจัยสรุปไว้อย่างนั้น ใครชอบดื่มน้ำอัดลมเติมน้ำตาลกันบ่อย แนะนำให้ลดลงหน่อยก็ดี #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #มะเร็งลำไส้ใหญ่, #น้ำตาลกับมะเร็ง