วานนี้อาทิตย์ที่ 3 มีนาคม 2567 ผมเป็นประธานเปิดงานประจำปีของมัสยิดยะวา ย่านเจริญราษฎร์-สาทรใต้ เปิดงานแล้วมีโอกาสบรรยาย ผมกล่าวถึงจุดเด่นของชุมชนมัสยิดยะวาคือความเป็นพหุวัฒนธรรม เริ่มต้นว่ากรุงเทพฯสร้างเลียนแบบกรุงศรีอยุธยาที่ในบันทึกของข้าหลวงฝรั่งเศสคือซีมง เดอ ลาลูแบร์ ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ระบุว่าคือชุมชนพหุวัฒนธรรม โดยกรุงศรีอยุธยาเวลานั้นเป็นมหานครที่รุ่งเรืองที่สุดในเอเชียตอนใต้ ประชากรมีชนเชื้อสายต่างๆมากถึง 40 กลุ่ม พูดแตกต่างกันถึง 20 ภาษา กรุงเทพฯคือเมืองที่ถูกสร้างเลียนแบบกรุงศรีอยุธยา ชุมชนมัสยิดยะวาจึงเป็นตัวอย่างชุมชนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม มีทั้งชุมชนมุสลิม คริสต์ ฮินดู พุทธทั้งพุทธไทย พุทธมอญและพม่า ปะปนอยู่ในพื้นที่เดียวกัน โดยอยู่ร่วมกันอย่างสมัครสมานสามัคคี ผมเน้นตรงประโยคหลังนั่นแหละ ซึ่งเป็นความหมายแท้ๆของความเป็นพหุวัฒนธรรมชนยะวาแถบมัสยิดยะวาสืบทอดวัฒนธรรมมาจากชนชวาหรือยะหวาในอินโดนีเซีย ในทางประวัติศาสตร์ พบว่าการเผยแผ่อิสลามในอินโดนีเซียในอดีตประสบความสำเร็จมากกว่าการเผยแผ่อิสลามในอินเดียอย่างมาก ทั้งที่เป็นกรณีการเผยแผ่อิสลามในชุมชนฮินดูและพุทธไม่ต่างกัน หากพิจารณาในเอเชียใต้ ปัจจุบันมีมุสลิมรวมในสามประเทศคืออินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ ร้อยละ 30 แตกต่างจากในอินโดนีเซียที่มีประชากรมุสลิมมากถึงร้อยละ 85 ทั้งๆที่ความเป็นมาตอนเริ่มต้นไม่ต่างกันเลย คำตอบจากนักประวัติศาสตร์คือผู้นำอิสลามเข้ามาเผยแผ่ในอินเดียมาในลักษณะราชสำนักเติร์ก-เปอร์เซีย แยกตนเองจากราษฎรที่มีชนฮินดูเป็นหลัก ขณะที่ในอินโดนีเซีย ผู้นำอิสลามเข้ามาเผยแผ่มาในลักษณะพ่อค้าและผู้สอนศาสนาที่หลอมรวมตนเองเข้ากับราษฎรที่เป็นชนฮินดู-พุทธ ได้สำเร็จทั้งอินเดียและอินโดนีเซียเวลานั้น ชนชั้นปกครองและราษฎรถูกแยกออกจากกันอันเป็นผลจากการแบ่งชนชั้นในศาสนาเดิม เมื่ออิสลามเผยแผ่เข้ามาในอินเดีย ความแตกต่างของชนกลุ่มเก่ากับกลุ่มใหม่เป็นเสมือนน้ำกับน้ำมัน ราชสำนักมุสลิมใหม่ในอินเดียขาดความตั้งใจหลอมรวมราชสำนักเข้ากับราษฎร ในขณะที่การเผยแผ่อิสลามในอินโดนีเซีย ครูสอนศาสนาอิสลามทำตัวเสมือนแอลกอฮอล์ที่ช่วยหลอมรวมน้ำเข้ากับน้ำมัน อิสลามของครูสอนศาสนาจึงหลอมรวมเข้ากับราษฎรฮินดู-พุทธในเกาะสุมาตราและเกาะชวาได้ไม่ยากนัก เป็นไปอย่างเนียนตา สุดท้ายสามารถเอาชนะจิตใจราษฎรให้แยกตัวออกจากราชสำนักเดิมได้สำเร็จพหุวัฒนธรรมมิได้หมายความเพียงการผสมผสานผู้คนต่างวัฒนธรรมแต่ต้องหลอมรวมผู้คนต่างศาสนา วัฒนธรรมให้เข้าด้วยกันได้อย่างกลมกลืน เรื่องนี้อินโดนีเซียทำได้สมบูรณ์กว่า พหุวัฒนธรรมลักษณะนี้เกิดขึ้นในแผ่นดินสยามเช่นเดียวกัน ในชุมชนย่านสาทรที่เรียกกันแต่เดิมว่าบ้านทวาย มีชุมชนชวา ไทย อินเดีย คริสต์ตามแบบฝรั่ง มอญ พม่า ทั้งหมดถูกวัฒนธรรมไทยหล่อหลอมกลมกลืนกลายเป็นคนไทยไปจนหมด มุสลิมชวาแถบสาทรกลายเป็นมุสลิมไทยชวา พุทธพม่า พุทธมอญเปลี่ยนเป็น ไทยมอญ ไทยพม่า เช่นนี้เองคือความโดดเด่นของพหุวัฒนธรรมแบบไทยที่ยังคงดำรงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลงในความเป็นประเทศไทยทุกวันนี้#ดรวินัยดะห์ลัน, #drwinaidahlan, #มัสยิดยะวา, #พหุวัฒนธรรม