“ชา” จากวัฒนธรรมและการเมืองสู่สุขภาพ ตอนที่ 4

ชาจากจีนเผยแพร่ไปทั่วซีกโลกตะวันออกทั้งจีน เกาหลี ญี่ปุ่น กระทั่งถึงอินเดีย เปอร์เชียและอาหรับ เวลาผ่านมาอีกนานชาวยุโรปที่เข้ามาค้าขายกับจีนจึงได้เริ่มลิ้มลองรสชาติแห่งชาจีน ชนชาติยุโรปชาติแรกที่เริ่มทำการค้าขายชาจีนคือคณะมิสชันนารีนิกายเยซูอิต ชาวปอร์ตุเกสนำโดยบาทหลวงจาสเปอร์ เดอ ครูซ (Jasper de Cruz) ซึ่งได้รับอนุญาตจากทางการจีนให้ค้าขายใบชาได้ใน ค.ศ.1560 ก่อนหน้านั้นสี่ปี บาทหลวงเดอ ครูซผู้นี้เคยทดลองชิมชาและเชื่อว่าชาจะเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมในยุโรป จึงหาหนทางขออนุญาตค้าขายใบชาจากทางการจีนในขณะนั้น ปอร์ตุเกสคือชาติแรกที่รู้วิธีล่องเรือจากยุโรปอ้อมอัฟริกามายังจีนใน ค.ศ.1513การค้าขายใบชาจีนโดยตรงระหว่างจีนกับยุโรปโดยทางเรือจึงเริ่มต้นขึ้นเส้นทางแรกจากชายฝั่งตะวันออกของจีนสู่กรุงลิสบอนของปอร์ตุเกสในยุโรป จากนั้นเรือสินค้าฮอลแลนด์จึงนำชาจากลิสบอนเข้าสู่อัมสเตอร์ดัมและกรุงเฮกของฮอลแลนด์ (เนเธอร์แลนด์) อีกต่อหนึ่ง ในช่วงนั้นความสัมพันธ์ระหว่างปอร์ตุเกสกับฮอลแลนด์เป็นไปอย่างแน่นแฟ้น กระทั่งถึง ค.ศ.1602 เกิดปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ ทัพเรือฮอลแลนด์ซึ่งเริ่มมีอำนาจทางทะเลมากขึ้นมีส่วนทำให้ทางการฮอลแลนด์เปิดเส้นทางเรือค้าขายระหว่างฮอลแลนด์กับจีนโดยตรงไม่ผ่านปอร์ตุเกสอีกต่อไป ชาจีนจึงเข้าไปอยู่ในสารบบทางการค้าระหว่างฮอลแลนด์กับจีนนับแต่นั้น ชาจีนเริ่มต้นด้วยการผูกขาดทำให้ราคาในท้องตลาดแพงกว่า 100 เหรียญต่อน้ำหนักชาหนึ่งปอนด์ เป็นผลให้ชาวบ้านทั่วไปซื้อหาชาไว้ดื่มไม่ได้ ชากลายเป็นเครื่องดื่มสำหรับชนชั้นสูง ต่อมาเมื่อการค้าขายระหว่างสองชาติมีมากขึ้น ราคาในตลาดเริ่มลดลงในที่สุดชาวบ้านร้านตลาดทั่วไปในฮอลแลนด์สามารถซื้อชามาดื่มได้ในราคาที่ไม่แพงจนเกินไป เมื่อชาลงสู่ชนชั้นกลางในสังคม ผลคือชากลายเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมในยุโรปมานับแต่นั้น แพร่จากฮอลแลนด์สู่ฝรั่งเศส อังกฤษและหลายรัฐเยอรมันใน ค.ศ.1670 มีบันทึกว่าผู้ปกครองหรือมาควิซแห่งเซวองชื่อมารี เดอ ราบูแตง ชองตาล (Marie de Rabutin-Chantal, Le Marquise de Seven) ในฝรั่งเศสได้เพิ่มสูตรการดื่มชาในยุโรปขึ้นอีกหนึ่งสูตรจากเดิมที่เคยเติมเกลือ เนย และสมุนไพรที่ใช้กันอยู่ในเวลานั้นเป็นสูตรการเติมนมซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในเวลาต่อมา ชาได้รับความนิยมอย่างสูงในดินแดนฝรั่งเศสยาวนานกว่า 50 ปีก่อนที่ความนิยมเหล้าไวน์ เครื่องดื่มโกโก้และกาแฟเริ่มที่จะเข้ามามีบทบาทในตลาดเครื่องดื่มของฝรั่งเศสมากขึ้น แต่อาจเป็นเพราะชะตากรรมของชาที่จะต้องแสดงบทบาทของตนเองโดดเด่นไปทั่วโลกในฐานะเครื่องดื่มอันดับหนึ่งเป็นผลให้ชาซึ่งเข้าสู่ฮอลแลนด์และฝรั่งเศสนานพอสมควรแล้ว เริ่มลดความนิยมลงในทั้งสองประเทศก่อนเข้าไปฉายรัศมีในดินแดนอังกฤษที่กำลังสร้างฐานะตนเองขึ้นกระทั่งกลายเป็นเจ้าโลกหลังจากนั้น อังกฤษนี่เองที่ทำให้ชากลายเป็นเครื่องดื่มระดับโลกไปจนได้ #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #ชาจากวัฒนธรรมและการเมืองสู่สุขภาพ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *