“ชา” จากวัฒนธรรมสู่สุขภาพ ตอนที่ 1

“ชา” ดื่มกันมาเป็นพันปีแล้ว แต่บางครั้งลืมนึกไปว่าชาเริ่มต้นมาจากไหน มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องราวต่างๆอย่างไร ผมเขียนเรื่องชาอยู่บ่อย มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับชาค่อนข้างมาก อยากจะนำมาเผยแพร่ให้พวกเราได้อ่าน เริ่มกันที่ภาษาและวัฒนธรรมก่อนก็แล้วกัน

“ชา” คือเครื่องดื่มที่ใช้ใบแห้งของพืชขนาดเล็กมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Camellia sinensis Linn. ชงกับน้ำร้อน ชาในภาษาไทยเรียกเพี้ยนมาจากคำว่า “ฉ่า” ในภาษาจีนกวางตุ้ง และคำว่า “ชา” ในภาษาจีนกลาง เป็นคำจีนที่ปรากฏในภาษาไทยตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาตอนกลางแล้ว โดยในครั้งนั้นพ่อค้าจีนที่ทำมาค้าขายอยู่กับอยุธยาส่วนใหญ่เดินทางมาจากชายฝั่งทะเลตะวันออกของจีน พูดภาษากวางตุ้ง มีบ้างที่พูดจีนกลาง

คนไทยใช้คำว่า “ชา” เรียกขานชาทั่วไปไม่ว่าจะเป็นชาจีน ชาญี่ปุ่นหรือชาฝรั่ง หากหมายถึงการดื่มชาจีนแบบคนจีนแล้ว คนไทยนิยมใช้คำว่า “เจียะเต๊” ซึ่งเป็นคำจีนแต้จิ๋วมากกว่าคำว่า “หยำฉ่า” ตามภาษาจีนกวางตุ้ง ทั้งนี้เนื่องจากคนจีนที่เข้ามาเมืองไทยในระยะหลังเป็นคนจีนแต้จิ๋วที่อพยพมาจากตอนใต้ของจีน เมื่อคนจีนแต้จิ๋วเรียกชาว่า “เต๊” หรือ “แต๊” คนไทยทางภาคใต้ตอนล่างซึ่งได้อิทธิพลจากจีนแต้จิ๋วมากกว่าคนจีนกลุ่มอื่นจึงเรียกขานชาว่า “แต๊” ตามคนจีนแต้จิ๋วไปด้วย ไม่เรียกว่าชาตามคนไทยในภาคกลาง

สิ่งที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่งคือคำว่าชาแม้คนไทยจะเรียกตามคำจีนโดยไม่เรียกว่า “จาย” ตามคำในภาษาอินเดีย แต่การชงและดื่มชาของคนไทยกลับเป็นแบบอินเดียและฝรั่งมากกว่าจีน คนไทยนิยมปรุงแต่งรสชาติของชาด้วยน้ำตาลและนมตามแบบอินเดียและฝรั่งมากกว่าที่จะดื่มชาให้ได้รสชาติของใบชาตามแบบอย่างชาวจีน การดื่มชาของคนไทยจึงเป็นรูปแบบการผสมผสานทางวัฒนธรรมที่น่าศึกษา

ชนชาติแรกที่รู้จักการดื่มชาคือชาวจีน ซึ่งต่อมาได้เผยแพร่ประเพณีการดื่มชาเข้าสู่วัฒนธรรมของหลายชนชาติในโลกตะวันออก ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น เกาหลี เวียตนาม นอกจากนี้ยังเผยแพร่วัฒนธรรมการดื่มชาไปสู่ชนชาวเอเชียกลุ่มอื่นๆที่มีการติดต่ออยู่กับชาวจีนโบราณไม่ว่าจะเป็นอินเดีย เปอร์เซีย อาหรับ รวมทั้งชาวมุสลิมในแถบเอเชียกลาง แต่ถึงแม้ว่าชาวจีนโบราณจะทำให้ชากลายเป็นเครื่องดื่มของผู้คนหลากหลายชนชาติในเอเชีย ทว่าชนชาติที่มีบทบาทสำคัญทำให้ชากลายเป็นเครื่องดื่มนานาชาติไปได้ในภายหลังกลับมิใช่ชาวจีน แต่เป็นชาวยุโรปชาติต่างๆ ทั้งปอร์ตุเกส เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส อังกฤษ

ชาวยุโรปโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวอังกฤษนี่เองที่นำวัฒนธรรมการดื่มชาเผยแพร่ไปยังดินแดนต่างๆผ่านทางจักรวรรดิอังกฤษที่มีอาณานิคมอยู่ทั่วโลก ทำให้การดื่มชากลายเป็นวัฒนธรรมที่ปรากฏอยู่ในชนชาติต่างๆในหลายทวีป ทั้งในยุโรป อเมริกาและอัฟริกา ชาจึงนับเป็นเครื่องดื่มที่มีความเป็นนานาชาติมากที่สุด #drwinaidahlan#ดรวินัยดะห์ลัน#ชาจากวัฒนธรรมสู่สุขภาพ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *