“ชา” จากวัฒนธรรมสู่สุขภาพ ตอนที่ 5

ใครจะไปคิดว่าชาจะกลายเป็นส่วนสำคัญในการสร้างชาติยิ่งใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา ย้อนกลับไปใน ค.ศ.1650 พ่อค้าชาวฮอลแลนด์นำชาเข้าไปเผยแพร่ในอาณานิคมของตนในทวีปอเมริกาเหนือนั่นคือนิวอัมสเตอร์ดัม (New Amsterdam) ต่อมาเมื่ออังกฤษทำสงครามกับฮอลแลนด์เพื่อแย่งชิงดินแดนอเมริกาเหนือและตะวันออกไกลนำไปสู่การทำสนธิสัญญาเบรดา อังกฤษได้เกาะแมนฮัตตันจากการแลกกับเกาะรันในทะเลบันดาของโมลุกกะ อังกฤษเปลี่ยนชื่อนิวอัมสเตอร์ดัมบนเกาะแมนฮัตตันเป็นนิวยอร์ค ทางการอังกฤษพบว่าชาวอาณานิคมนิยมดื่มชาอย่างมากกระทั่งทำให้การค้าขายใบชาให้กับชาวอาณานิคมที่มีจำนวนแค่หยิบมือเดียวมีมากกว่าชาวอังกฤษทั้งเกาะ เป็นผลให้ทางการอังกฤษเริ่มหันมาสนใจการค้าขายใบชามากขึ้น

ชาจีนเข้าไปเผยแพร่ในอังกฤษใน ค.ศ.1652 โดยอังกฤษเป็นชาติยุโรปชาติที่สามที่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปค้าขายในจีนภายหลังปอร์ตุเกสและฮอร์แลนด์ประสบความสำเร็จทางการค้ากับจีนอย่างมากแล้ว ความสำเร็จของอังกฤษในการค้าขายใบชาสมควรยกให้เป็นความชอบของพระราชินีในกษัตริย์ชาร์ลแห่งอังกฤษ พระองค์ทรงเป็นราชนิกูลชาวปอร์ตุเกสมีพระนามว่าแคธรีน เดอ บรากานซา (Catherine de Braganza) อภิเษกสมรสกับพระเจ้าชาร์ลใน ค.ศ.1662 เมื่อครั้งพระเจ้าชาร์ลทรงลี้ภัยการเมืองจากอังกฤษ พระนางทรงเป็นผู้ฟื้นฟูบริษัทจอห์น (John Company) ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าอลิซาเบธที่ 1 ทรงตั้งขึ้นเมื่อกว่า 50 ปีก่อนหน้านั้นโดยบริษัทจอห์นทำหน้าที่ดูแลการค้าของราชวงศ์อังกฤษในตะวันออกไกล

พระราชินีแคธรีนทรงอนุญาตให้บริษัทจอห์นมีฐานปฏิบัติการอยู่ที่เมืองมุมไบของอินเดียซึ่งในขณะนั้นเป็นดินแดนของปอร์ตุเกส ต่อมาเมืองนี้ได้เปลี่ยนมือเป็นของอังกฤษและถูกเปลี่ยนชื่อเป็นบอมเบย์ (Bombay) ในภายหลัง การที่อินเดียกลายเป็นฐานปฏิบัติการของอังกฤษเช่นนี้มีผลทำให้อังกฤษซึ่งเริ่มต้นทำมาค้าขายกับจีนอยู่แล้วในขณะนั้น ให้ความสนใจอินเดียมากยิ่งขึ้นจากแต่ก่อนที่เคยสนใจเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังมีผลทำให้อินเดียกลายเป็นแหล่งเพาะปลูกชาที่สำคัญของพ่อค้าชาวอังกฤษในเวลาต่อมา

บริษัทจอห์นของราชวงศ์อังกฤษทรงอิทธิพลอย่างยิ่งในการค้าขายสินค้าในซีกโลกตะวันออกมีอิทธิพลถึงขนาดผูกขาดการค้าและกำหนดนโยบายการต่างประเทศของอังกฤษได้ มีอำนาจที่จะใช้กองทัพอังกฤษโพ้นทะเลประกาศสงครามกับชาติอื่นๆ อิทธิพลของบริษัทจอห์นเกิดขึ้นก็ด้วยรายได้จำนวนมหาศาลจากการค้าใบชากับประเทศจีนเป็นหลัก เพราะผลประโยชน์นี้เองส่งผลให้เกิดการแข่งขันในเชิงอำนาจระหว่างราชวงศ์อังกฤษกับรัฐสภาของอังกฤษ บริษัทอินเดียตะวันออกที่จัดตั้งขึ้นในภายหลังโดยการสนับสนุนจากรัฐสภากลายเป็นคู่แข่งสำคัญของบริษัทจอห์นของราชวงศ์ ความขัดแย้งของสองบริษัทที่ต่อมามีการประนีประนอมกันนำไปสู่การสร้างระบบผูกขาดการค้าใบชาส่งผลภายหลังให้อิทธิพลของอังกฤษในอาณานิคมอเมริกาต้องล่มสลายกระทั่งกำเนิดเป็นประเทศสหรัฐอเมริกาในที่สุด #drwinaidahlan#ดรวินัยดะห์ลัน#ชาจากวัฒนธรรมสู่สุขภาพ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *