ผมเป็นคนติดหนังสือ ว่างเมื่อไหร่เป็นต้องหยิบมาอ่าน ในห้องน้ำที่บ้านจึงมีหนังสือกองอยู่หลายเล่ม หนึ่งในนั้นชื่อ #Three Cups of Tea (#ชาสามถ้วย) เขียนโดย #เกรก มอร์เทนเซน (Greg Mortensen) นักไต่เขาชาวอเมริกันตีพิมพ์ใน ค.ศ.2006 (พ.ศ.2549) หนังสือเล่มนี้ขายดีติดอันดับโลกเพื่อจัดหารายได้สร้างโรงเรียนในพื้นที่ทุรกันดารแถบชายแดนปากีสถานและอัฟกานิสถานซึ่งมอร์เทนเซนประสบอุบัติเหตุระหว่างปีนเขาสูง K2 และหลงทางกับเพื่อน กระทั่งชาวบ้าน #ปัชตุน หรือ #ปาทาน ช่วยเหลือไว้ มอร์เทนเซนซาบซึ้งในน้ำใจรับปากจะหาเงินสร้างโรงเรียนให้ชาวบ้าน กลับถึงสหรัฐอเมริกาแล้วจึงเขียนหนังสือ เดินสายบรรยายกระทั่งหาเงินได้นับล้านเหรียญนำไปสร้างโรงเรียนในพื้นที่ชายแดนปากีสถานและอัฟกานิสถานได้เกือบร้อยแห่งมอร์เทนเซนกลายเป็นวีรบุรุษของชาวบ้านแถบชายแดนปากีสถาน ทว่าไม่นานนักเรื่องราวอีกด้านหนึ่งของมอร์เทนเซนกลับถูกนำเสนอโดยบางฝ่าย คลับคล้ายว่าเรื่องราวการหลงทางในหุบเขาไม่เคยเกิดขึ้น ไม่เคยมีการสร้างโรงเรียน ทุกอย่างเป็นเรื่องโป้ปดมดเท็จ สร้างความเคลือบแคลงแก่ผู้คนอย่างยิ่ง สุดท้ายทางสถานีโทรทัศน์ BBC ของอังกฤษพยายามเสาะหาความจริง ส่งนักข่าวดั้นด้นไปถึงพื้นที่หุบเขา K2 ตามหาชาวบ้านที่เป็นต้นตอของเรื่องราว Three Cups of Tea กระทั่งพบบุคคลหลายคนรวมถึงบุคคลที่เคยต่อต้านโรงเรียนที่มอร์เทนเซนเขียนถึง คนเหล่านี้กล่าวถึงมอร์เทนเซนในเชิงบวก การสร้างโรงเรียนเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ หลายแห่งขาดรายได้ดำเนินงาน สิ่งที่ BBC พบคือมอร์เทนเซนเป็นที่รักของชาวบ้านแถบนั้นจริงคำว่าชาสามถ้วย มอร์เทนเซนนำมาจากคำกล่าวของชายชราชาวปัชตุนคนหนึ่งชื่อหะยีอาลีที่เชิญชวนมอร์เทนเซนดื่มชาโดยอธิบายว่าชาถ้วยแรกหมายถึงการเป็นแขก หากมีการเชิญอีกครั้ง ชาถ้วยที่สองหมายถึงการเป็นเพื่อน ชาถ้วยที่สามคือการเป็นญาติ วัฒนธรรมงดงามที่มอร์เทนเซนบรรยายในหนังสือสะเทือนอารมณ์ผู้อ่านอย่างยิ่งกระทั่งทำให้หนังสือเล่มนี้ติดอันดับหนังสือขายดีระดับโลก เสียดายที่ BBC มัวแต่เสาะหาเรื่องราวของโรงเรียนจนลืมเรื่องสำคัญคือวัฒนธรรมการดื่มชาอันเป็นที่มาของชื่อหนังสือเรื่องราวของชาสามถ้วย นอกจากจะปรากฏในชนปัชตุนปากีสถานแล้ว ยังพบในตำนานเรื่องเล่าของญี่ปุ่นตามวัฒนธรรมความเอาใจใส่ต่อแขก เรียกกันว่า “#โอโมเตะนาชิ” ซึ่งเล่าถึงซามูไรคนหนึ่งเดินทางไกลมาที่ร้านชาในเมือง ทางร้านบริการชา 3 ถ้วยให้ซามูไร ถ้วยแรกเป็นชาอุ่นใส่ถ้วยธรรมดา ถ้วยที่สองเป็นชาร้อนรสดีถ้วยใหญ่ ถ้วยที่ชามเป็นถ้วยเล็กมีลวดลายสวยงามใส่ชาร้อนจัด ชิมแล้วรู้ถึงกลิ่นรสความเป็นสุดยอดชา คำอธิบายของเจ้าของร้านคือซามูไรเดินทางมาไกล การได้ดื่มชาดีในถ้วยแรกอาจไม่ได้รับรสมากนัก จึงเริ่มต้นด้วยชาอุ่น ตามด้วยชาธรรมดาถ้วยใหญ่เพื่อเตรียมตัวรับรสสุดยอดชาในถ้วยสุดท้ายที่ต้องค่อยๆจิบทำให้มีเวลาพิจารณาความงดงามของถ้วย นี่คือความละเมียดละไมของวัฒนธรรมซามูไรญี่ปุ่นเน้นการขับความโดดเด่นของรสชา เมื่อเทียบกับชาสามถ้วยแบบปัชตุนปากีสถานที่ให้ความงดงามในอีกรูปแบบหนึ่ง เป็นรูปแบบของน้ำใจไมตรีแบบปัชตุน ชาอาจไม่อร่อยเท่าชาญี่ปุ่นแต่ไมตรีนั้นช่างหอมหวานจนยากที่จะลืม #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน