ชายเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนจากโรคอ้วนมากกว่าหญิง

คนเราไม่ว่าหญิงหรือชายเสี่ยงต่อภาวะอ้วนหรือโรคอ้วนได้ทั้งนั้น เกิดโรคอ้วนแล้วเสี่ยงต่อความเจ็บป่วยจากภาวะแทรกซ้อนถึงขนาดเสียชีวิตเลยก็ได้จึงต้องระวังกันให้มาก อย่างไรก็ตาม ชายกับหญิงมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ไม่เท่ากัน งานวิจัยในหนูทดลองจากมหาวิทยาลัยยอร์ค สหราชอาณาจักร นำโดยศาสตราจารย์ทารา ฮาส (Tara Haas) แห่งสาขากายภาพและวิทยาศาสตร์สุขภาพ (Kinesiology and Health Science) ตีพิมพ์ในวารสาร iScience ฉบับเดือนมกราคม 2023 สรุปไว้ว่าชายที่เป็นโรคอ้วนเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่าหญิงเนื่องจากความแตกต่างทางฮอร์โมน และกลไกทางชีวเคมีในร่างกาย เป็นผลให้เซลล์บุผนังหลอดเลือดของหญิงแบ่งตัวได้เร็วกว่า ขณะที่ฝ่ายชายไวต่อภาวะอักเสบในหลอดเลือดมากกว่าย้อนกลับมาทบทวนเรื่องโรคอ้วนกันหน่อย อ้วนหมายถึงค่าดัชนีมวลกาย (Body mass index หรือ BMI) มีค่าเกิน 25 โดยคนเอเชียอาจนับที่ตัวเลข 23 ก็ได้ ดัชนีมวลกายคำนวณได้จากค่าน้ำหนักตัวคิดเป็นกิโลกรัมหารด้วยส่วนสูงคิดเป็นเมตรยกกำลังสองหรือหารด้วยส่วนสูงคิดเป็นเมตรสองครั้งนั่นแหละ ใครมีค่า BMI เกิน 25 หรือ 23 แล้วแต่กรณีถือว่าอ้วน แต่ยังไม่เป็นโรคอ้วน หากค่า BMI เกิน 30 นั่นน่ะโรคอ้วนหรือ Obesity เข้ามาเยือนเป็นที่เรียบร้อย หากค่าเกิน 40 หมายถึงเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากโรคหรือภาวะแทรกซ้อนที่มีอยู่หลายชนิดปัญหาของความอ้วนและโรคอ้วนคือบรรดาภาวะแทรกซ้อนนี่เอง ที่พบบ่อยได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือดรวมทั้งภาวะหลอดเลือดสมองตีบหรือแตกหรือสโตรก (Stroke) เนื่องจากโรคอ้วนก่อปัญหาความดันโลหิตสูง รวมถึงไขมันโดยเฉพาะอย่างยิ่งคอเลสเตอรอลชนิดแอลดีแอลสูง อีกโรคที่เป็นผลพวงจากโรคอ้วนคือเบาหวานประเภทที่สอง คนเป็นโรคอ้วนนานเข้ามักมีปัญหาอินสุลินในเลือดสูง จนกระทั่งเกิดภาวะดื้อต่ออินสุลิน นำไปสู่โรคเบาหวานจำเป็นต้องใช้ยาหรืออาจถึงขนาดต้องฉีดอินสุลินก็ได้โรคอ้วนยังทำให้เสี่ยงต่อมะเร็งอย่างเช่นมะเร็งปากมดลูก รังไข่ เต้านม ลำไส้ใหญ่ หลอดอาหาร ตับ ถุงน้ำดี ตับอ่อน ไต ต่อมลูกหมาก สารพัดมะเร็งเหล่านี้เป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคอ้วนเช่นเดียวกัน ภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยอีกอย่างหนึ่งคือปัญหากับระบบย่อยอาหาร เกิดปัญหากรดไหลย้อน รวมทั้งโรคที่เกี่ยวข้องกับถุงน้ำดีและตับ อีกปัญหาหนึ่งที่มักเกิดกับคนที่มีปัญหาโรคอ้วนคือนอนไม่หลับ หรือหลับยาก (Sleep apnea) หายใจขัดขณะหลับ อีกทั้งยังมีปัญหาข้อเข่าเสื่อมจากน้ำหนักตัวกดทับข้อต่อและกระดูกเกิดภาวะข้อเสื่อมหรือกระดูกอ่อนเสื่อม (Osteoarthritis) สุดท้ายที่พบมากในระยะหลังคืออาการรุนแรงของผู้ป่วยโควิด-19 จึงจำเป็นต้องระวังกันให้มากโรคอ้วนหรือความอ้วนจึงก่อความเสี่ยงต่อสารพัดโรค ข้อแนะนำคือระวังอย่าให้อ้วนโดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายชาย ควรระวังกันให้มากสักหน่อย #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #ภาวะแทรกซ้อนจากโรคอ้วน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *