เขียนเรื่องราวของชนเติร์กที่เดินทางท่องจากเอเชียกลางมาจนถึงดินแดนอะนาโตเลียก่อตั้งประเทศที่ชื่อตุรกีขึ้น โดยเขียนมาได้มากกว่า 60 ตอน เกิดความเข้าใจความเป็นมาของชนเติร์กกันดีแล้ว ในส่วนของตุรกีจึงขอจบเพียงเท่านี้ ตุรกียุคใหม่สามารถหาอ่านจากที่อื่นๆได้จึงจะไม่เขียนต่อ ส่วนในตอนหน้าจะขอเขียนถึงประเทศอื่นๆของชนเติร์กกันบ้าง เพื่อจะได้รู้จักชนเติร์กมากขึ้น ได้รู้ว่าชนเติร์กมีความรู้สึกผูกพันในความเป็นชนชาติเดียวกัน ภาษาพูดใกล้เคียงกันแค่ไหนเพียงใด สำหรับตอนนี้ขอเขียนเรื่อง “ไก่งวง” คลายเครียดกันสักหน่อย ไก่งวงที่คนอเมริกันนิยมกินกันในวันคริสตมาสโดยเรียกว่า “Turkey” เหมือนชื่อประเทศตุรกีนั่นแหละ การเรียกไก่งวงว่าเตอร์กีมีความเป็นมาหลายร้อยปีแล้ว ไก่งวงเป็นไก่ขนาดใหญ่ ไม่ได้เป็นไก่พื้นเมืองในยุโรป ไก่ใหญ่ขนาดนี้พ่อค้ายุคเก่านำมาจากอัฟริกาจะเป็นทางตอนใต้หรือตะวันตกก็ตามที ย้อนหลังกลับไปห้าร้อยปีมาแล้ว นครคอนสแตนติโนเปิลเมืองหลวงของจักรวรรดิอุสมานียะฮฺนับเป็นศูนย์กลางทางการค้า ตลาดในเมืองที่เรียกว่าแกรนด์บาซาร์ (Grand Bazaar) รวมทั้งตลาดเครื่องเทศ (Spice market) ที่เรียกว่าตลาดอียิปต์ เป็นศูนย์รวมของพ่อค้าที่เดินทางมาจากทั่วยุโรปและตะวันออกกลาง ในตลาดแห่งนี้พ่อค้าชาวเติร์กขายไก่ใหญ่ที่นำมาจากอัฟริกา พ่อค้าอังกฤษที่เดินทางเข้ามายังเมืองนี้เรียกไก่ชนิดนี้ว่าไก่เตอร์กี (ไก่ตุรกี) เนื่องจากคนขายเป็นชาวเติร์ก เรียกบ่อยเข้าจึงเรียกสั้นๆว่าเตอร์กีเพียงอย่างเดียวไก่เตอร์กีในยุคนั้นไม่ใช่ไก่งวงที่รู้จักกันในภายหลัง เป็นไก่ใหญ่ที่มีชื่อว่าไก่กีนี (Guinea fowl) เพียงแต่ไม่ใช่สายพันธุ์กีนีจากอัฟริกาตะวันตกแต่เป็นสายพันธุ์เกาะมาดากัสการ์ คนอังกฤษเรียกว่าเตอร์กี ขณะที่คนฝรั่งเศสเรียกว่าไก่อินเดีย (poulet l’inde) บันทึกเก่ากว่านั้นของอังกฤษมีว่าคนเติร์กในอัฟริกายุคจักรวรรดิเซลจุกหลายร้อยปีก่อนหน้านั้นเคยขายไก่พันธุ์เดียวกันนี้โดยคนอังกฤษยุคเก่าเรียกไก่พันธุ์นี้ว่าเตอร์กีเช่นเดียวกัน สรุปเอาเป็นว่าคนอังกฤษเรียกไก่ชนิดนี้ว่าเตอร์กีมาตั้งแต่เก่าก่อน เพราะเข้าใจเอาเองว่าเป็นไก่พื้นเมืองที่ชนเติร์กเลี้ยงไว้และนำมาขายช่วงต้นศตวรรษที่ 17 คนอังกฤษอพยพข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปอยู่ในดินแดนอเมริกาแถวนิวอิงแลนด์กันมาก ช่วงแรกยังคบหาสมาคมกับชนอินเดียนแดงดีอยู่ ชนอินเดียนแดงเลี้ยงไก่ใหญ่พันธุ์พื้นเมืองไว้ คนอังกฤษเห็นแล้วเข้าใจว่าเป็นเตอร์กีที่เคยรู้จักจึงเรียกว่าเตอร์กีหรือไก่งวงมานับแต่นั้น เอาเข้าจริงเตอร์กีที่คนอังกฤษเคยรู้จักมาก่อนในยุโรปกับเตอร์กีที่พบเห็นในอเมริกาเป็นคนละสายพันธุ์กัน เตอร์กีในอเมริกาคือไก่พื้นเมืองที่ไม่พบในทวีปอื่น แต่เมื่อเรียกว่าเตอร์กีจนเคยชินแล้ว คนอังกฤษที่กลายเป็นคนอเมริกันไปจนหมดจึงเรียกไก่งวงว่าเตอร์กีมาตั้งแต่ต้น ส่วนเตอร์กีที่เคยใช้เรียกไก่ใหญ่จากอัฟริกา ภายหลังไม่ได้รับความนิยมในอังกฤษเท่าไก่งวงจากอเมริกาจึงเปลี่ยนชื่อไปเป็นไก่กินีบ้าง ไก่อินเดียบ้าง นี่เป็นเรื่องราวว่าเหตุใดคนอังกฤษจึงเรียกไก่งวงว่าเตอร์กี เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชนเติร์กเหมือนกัน ไม่มีอะไรผิด #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน