เข้าศตวรรษที่ 19 จักรวรรดิอุสมานียะฮฺถูกท้าทายอย่างหนักจากหลายชาติยุโรปที่พัฒนาไปมากจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่เริ่มในยุโรปนับแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองกระทบต่อจักรวรรดิโดยตรง อำนาจของขุนนางในราชสำนักที่เต็มไปด้วยการคอร์รัปชันมีมากขึ้น เข้า ค.ศ.1876 สุลตานอับดุลฮามิดที่ 2 ขึ้นครองราชย์ในปีนั้นจำต้องพระราชทานรัฐธรรมนูญที่เป็นความต้องการของหลายฝ่าย ทว่าการแข็งขืนของสุลตานหน่วงให้สถานการณ์ลากยาวไปจนถึง ค.ศ.1908 พระองค์จำต้องพระราชทานรัฐธรรมนูญอีกครั้งก่อนถูกบังคับให้สละราชสมบัติในปีต่อมา กลุ่มบุคคลที่ทำการปฏิวัติรัฐประหารครั้งนั้นคือกลุ่มทหารหนุ่มและปัญญาชนที่เรียกขานตนเองว่า “ยังเติร์ก” (Young Turk) เรียกกันอย่างนั้นทั้งๆที่ประกอบไปด้วยชนหลายเชื้อชาติไม่ใช่เฉพาะชนเติร์กหนุนเบื้องหลังโดยขุนนางผู้ใหญ่ที่อยู่ในราชสำนักนั่นเองกลุ่มยังเติร์กเริ่มกิจกรรมของตนตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 โดยมีแรงบันดาลใจมาจากการปฏิวัติในอิตาลี การเคลื่อนไหวเริ่มต้นในฝรั่งเศส ขณะที่มีอีกกลุ่มหนึ่งประกอบไปด้วยทหารในกองทัพรวมตัวกันที่รัฐมาเซโดเนียในบอลข่าน การแข็งขืนของสุลตานในขณะที่สถานการณ์ในยุโรปที่เข้าสู่ยุคสับสนเกิดการแข่งขันกันระหว่างกลุ่มสามมหาอำนาจสองกลุ่มนั่นคืออังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย ฝ่ายหนึ่งกับเยอรมนี ออสเตรียฮังการีและบุลกาเรียอีกฝ่ายหนึ่ง การชิงอำนาจในยุโรปเป็นไปอย่างเข้มข้นทำให้จักรวรรดิถูกบังคับให้เปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นประชาธิปไตยที่มีสุลตานอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ จากนั้นเข้ารัชสมัยของสุลตานเมฮฺเมดที่ 5 ซึ่งเป็นเพียงหุ่นเชิดของขุนนางในราชสำนักขณะที่กิจการบ้านเมืองอยู่ภายใต้การนำของกลุ่มยังเติร์กซึ่งตัดสินใจลากจักรวรรดิอุสมานียะฮฺให้เข้าร่วมในมหาสงครามโลกครั้งที่ 1 ตั้งแต่ ค.ศ.1914 เป็นต้นมาการเร่งพัฒนาสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ทั่วทั้งยุโรปช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ส่งผลให้บรรดาธนาคารทรงอิทธิพลทางการเมืองมากขึ้น อุสมานียะฮฺประสบชะตากรรมไม่ต่างกัน แม้กลุ่มยังเติร์กพยายามเลี่ยงการกู้ยืมทว่าสถานการณ์กลับผลักดันให้จักรวรรดิต้องเร่งพัฒนา ผลสุดท้ายกลายเป็นลูกหนี้จำนวนมหาศาลของบรรดาธนาคารในยุโรป ซ้ำเติมสถานการณ์สงครามที่ยังเติร์กนำอุสมานียะฮฺเข้าร่วมผิดฝ่ายผลักดันให้จักรวรรดิต้องทำสงครามกับทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศสและรัสเซียที่พยายามหาทางสู่ทะเลเปิดให้รัสเซียความต้องการของฝ่ายเยอรมนีคือให้อุสมานียะฮฺปิดกั้นรัสเซียมิให้นำทัพเรือเข้าสู่ยุโรปนำไปสู่การศึกแห่งกัลลิโพลี (Gallipoli) บริเวณช่องแคบดาร์ดะเนลล์ช่วง ค.ศ.1915-16 ที่แม้อุสมานียะฮฺจะมีชัยต่อจักรวรรดิอังกฤษและฝรั่งเศสที่ส่งกองทัพผสมเกือบครึ่งล้านบุกกัลลิโพลี ทว่าทั้งสองฝ่ายประสบความเสียหายฉกาจฉกรรจ์ลากยาวสงครามให้ต่อเนื่องไปจนถึง ค.ศ.1918 ฝ่ายเยอรมนีรวมถึงอุสมานียะฮฺจึงพ่ายแพ้ ผลที่ตามมาหลังจากนั้นคือจักรวรรดิอุสมานียะฮฺล่มสลาย สูญเสียดินแดนไปมากมายทั้งในบอลข่านและตะวันออกกลางพร้อมกับตำแหน่งสุลตานและคอลีฟะฮฺถูกยกเลิก ส่งผลสะเทือนต่อสถานะของตุรกีมาจนถึงปัจจุบัน #drwinaidahlanม#ดรวินัยดะห์ลัน