ชนชาวเติร์กกับพลังและโมเมนตัมที่ขับเคลื่อนประวัติศาสตร์โลก ตอนที่ 53

มีคำถามว่าเหตุใดโลกอิสลามนับแต่ศตวรรษที่ 7 ถึง 16 ยาวนาน 900 ปีจึงพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ได้มากมายสร้างยุคทองของโลกอิสลามกลายเป็นปัจจัยปลุกให้ยุโรปที่อยู่ในยุคมืดเวลานั้นตื่นขึ้นกระทั่งพัฒนาตนเองเข้าสู่ยุคสมัยของการฟื้นฟูศิลปะวิทยาหรือเรเนสซองค์ในศตวรรษที่ 14-17 นำไปสู่ยุคเรืองรองทางปัญญาในศตวรรษที่ 18 ต่อเนื่องจนเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมกระทั่งทำให้โลกตะวันตกกลายเป็นผู้นำทางวิทยาการนับตั้งแต่นั้นมากระทั่งปัจจุบัน ในขณะที่โลกอิสลามเองกลับหลับใหลนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมากระทั่งถึงวันนี้ยังไม่มีทีท่าว่าจะตื่น Yasmeen Mahnaz Faruqi แห่งมหาวิทยาลัย Flinders ประเทศออสเตรเลีย วิเคราะห์บทบาทของนักวิชาการอิสลามต่อการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ตีพิมพ์ในวารสาร International Education Journal ค.ศ.2006 เนื้อหาน่าสนใจ สิ่งที่ Faruqi พบคือนักวิทยาศาสตร์มุสลิมในยุคกลางทั้ง Jabir Ibn Haiyan, alKindi, al-Khwarizmi, al-Farghani, al-Razi, Thabit ibn Qurra, al-Battani, Hunain ibn Ishaq, al-Farabi, Ibrahim ibn Sinan, al-Masudi, al-Tarabi, Abu ibn Wafa, Ali ibn Abbas, Abu-l-Qasim, Ibn al-Jazzar, al-Biruni, Ibn Sina, Ibn Yunus, al-Karkhi, Ibn alHaitham, Ali ibn Isa, al-Ghazzali, al-Zarqali, Omar Khayyam ได้พัฒนาศาสตร์ใหม่ๆขึ้นไม่ว่าจะเป็นคณิตศาสตร์ ธรณีวิทยา ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี กระทั่งการแพทย์ คนเหล่านี้เชี่ยวชาญด้านศาสนาอิสลามควบคู่กับการเป็นนักวิทยาศาสตร์ทั้งสิ้นนักวิทยาศาสตร์มุสลิมศึกษาธรรมชาติผ่านอัลกุรอาน สร้างแรงบันดาลใจจากการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติกับมนุษย์เพื่อสร้างความเข้าใจต่อพระผู้เป็นเจ้า เนื้อหาในอัลกุรอานร้อยละ 8-10 บรรยายถึงปรากฏการณ์ทางวิทยาศาสตร์ กล่าวถึงความมหัศจรรย์ของพระผู้สร้าง เนื้อหาหลายตอนนำไปสู่การพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ในยุคหลัง ส่วนสำคัญที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์ยุคเก่าเกิดความเข้าใจเนื้อหาได้ลึกซึ้งคือความเชี่ยวชาญในภาษาอาหรับซึ่งเป็นภาษาของคัมภีร์อัลกุรอานและเป็นภาษาของนักวิชาการเหล่านั้นเองในศตวรรษที่ 11 เมื่อจักรวรรดิเซลจุกก่อกำเนิดขึ้น อำนาจของคอลีฟะฮฺแห่งจักรวรรดิอับบาสิยะฮฺอ่อนกำลังลงมากแล้ว เซลจุกแม้พัฒนาการศึกษาตามรูปแบบอับบาสิยะฮฺทว่าใช้ภาษาเปอร์เซียเขียนโดยอักษรอาหรับ การถ่ายทอดวิทยาการจึงลดพลานุภาพลง นั่นเป็นปัจจัยหนึ่ง ขณะที่ปัจจัยสำคัญคือช่วงศตวรรษที่ 13-14 การรุกรานของชนเผ่ามองโกลส่งผลให้ทั่วทั้งภูมิภาคเต็มไปด้วยการศึกสงครามจึงยากต่อการพัฒนาศิลปะวิทยาการ เมื่อจักรวรรดิผ่านมือจากเซลจุกมายังอุสมานียะฮฺที่ใช้ภาษาเติร์ก พลานุภาพของการถ่ายทอดยิ่งลดทอนลง ความต่อเนื่องทางวิชาการจืดจางกระทั่งทำให้การพัฒนา วทน.ในอุสมานียะฮฺเชื่องช้าลงเมื่อเทียบกับยุโรปที่นำเอาศิลปะวิทยาการจากอับบาสิยะฮฺเข้าไปแปลเป็นภาษาท้องถิ่นและพัฒนาต่อยอดกันอย่างคึกคัก เรื่องราวเช่นนี้เกิดขึ้นก่อนการกำเนิดอุสมานียะฮฺนานนับเป็นร้อยปีแล้ว #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *