นักประวัติศาสตร์ต่างยอมรับว่าโลกอิสลามคือผู้นำทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ของโลกตลอดยุคกลางศตวรรษที่ 7-16 ยาวนาน 900 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคอับบาสิยะฮฺแม้กลางศตวรรษที่ 13 ที่ถูกทัพมองโกลทำลาย ศิลปวิทยาการยังถูกถ่ายทอดไปยังจักรวรรดิเซลจุกและควาเรสเมีย รวมถึงรัฐสุลตานแห่งรุมได้ก่อนหน้านั้น ทำให้ถ่ายทอดไปยังอุสมานียะฮฺได้ในศตวรรษที่ 14 ก่อนค่อยๆมอดลงกลางศตวรรษที่ 16 ช่วงปลายรัชสมัยสุลตานสุลัยมานที่ 1 สภาพการนำทางด้าน วทน.เคลื่อนย้ายจากอุสมานียะฮฺไปยังยุโรปนับแต่ศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมากระทั่งนำไปสู่การล่มสลายของอุสมานียะฮฺในศตวรรษที่ 20 เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ดร.ชารีฟ เฮก (Shariff M.Haque) แห่งมหาวิทยาลัยแคนเตอร์เบอรี นิวซีแลนด์ ทำการศึกษาไว้ใน ค.ศ.2005 เปรียบเทียบโลกมุสลิมกับโลกตะวันตกได้ข้อสรุปว่าโลกมุสลิมยุคหลังขาดศักยภาพด้านการผลิตองค์ความรู้ พิสูจน์จากการมีผู้รับรางวัลโนเบลน้อยกว่าโลกตะวันตก 6.5 เท่า น้อยกว่ายิว 2,500 เท่า จำนวนมหาวิทยาลัยและนวัตกรรมน้อยกว่า 100 เท่า นักวิทยาศาสตร์น้อยกว่า 20 เท่า การลงทุนด้านวิจัยน้อยกว่า 25 เท่า การรู้หนังสือน้อยกว่า 2.5 เท่า โลกมุสลิมล้มเหลวในการกระจายความรู้โดยมีจำนวนหนังสือพิมพ์ หนังสือ วารสารและงานวิจัยน้อยกว่า 100 เท่านอกจากนี้โลกมุสลิมยังล้มเหลวกับการประยุกต์ใช้ความรู้ โดยส่งออกผลิตภัณฑ์ด้านเทคโนโลยีน้อยกว่า 100 เท่า ยืนยันได้ว่าโลกมุสลิมด้อยกว่าโลกตะวันตกจริง อะไรคือเหตุผลทั้งๆที่โลกมุสลิมเคยก้าวหน้ากว่าโลกตะวันตกมาตลอด 900 ปีในยุคกลาง เหตุใดในเวลาต่อมาจึงล้าหลังกว่ากันมาก นักประวัติศาสตร์ชาวตุรกีอย่างเอกเมเลดดิน อิฮฺซาโนลู (Ekmeleddin Ihsanoglu) อดีตเลขาธิการองค์การ OIC อธิบายว่าเมื่ออุสมานียะฮฺรับรู้ความรุ่งเรืองที่เกิดขึ้นในยุโรปช่วงศตวรรษที่ 18-19 จึงพยายามปฏิรูปและเร่งสร้างความทันสมัยโดยส่งนักวิชาการมากมายเข้าไปเรียนรู้ในยุโรปตลอดระยะเวลาสองร้อยปี ทว่าไม่สามารถพัฒนาจักรวรรดิให้ก้าวทันทวีปยุโรปได้ อิฮฺซานโนลูอธิบายว่าเมื่อรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี นักวิชาการจากอุสมานียะฮฺมักให้ความสำคัญกับองค์ความรู้โดยขาดการซึมซับวัฒนธรรมการวิจัยและการตั้งคำถามจากชนยุโรป นั่นเองที่ทำให้การพัฒนาทาง วทน.เกิดขึ้นไม่ได้ในจักรวรรดิอุสมานียะฮฺทิม โอนีล (Tim O’neille) นักประวัติศาสตร์ชาวออสเตรเลียอธิบายความถดถอยด้าน วทน.ในโลกอิสลามโดยระบุว่าปรัชญาการศึกษาในโลกอิสลามยุคอับบาสิยะฮฺเป็นแบบ “อิจติฮาด” หรือความขยันหมั่นเพียรเปิดกว้างด้าน “ตะฮฺฆีฆ” การถามอย่างเสรี “ตะฟักกูร” คิดวิเคราะห์และ “ตัฆยีรอด” เปลี่ยนแปลง ทว่ายุคหลังจากนั้นปรัชญาการศึกษากลับถูกแทนที่ด้วย “ตัฆลีด” หรือเดินตามอันนำไปสู่การหยุดตั้งคำถาม ขาดความกล้าเปลี่ยนแปลงและความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งปิดแคบลงสู่พื้นฐานและอนุรักษ์นิยมกระทั่งทำให้เกิดความถดถอย คำตอบของนักประวัติศาสตร์ทั้งสองท่านถูกต้องหรือไม่ ครอบคลุมประเด็นต่างๆครบถ้วนแล้วจริงหรือ อะไรคือเหตุผลที่แท้จริง ยังมีคำตอบอื่นอีกหรือเปล่า คงต้องวิเคราะห์กันอีกครั้ง #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน