ศตวรรษที่ 14-17 จักรวรรดิอุสมานียะฮฺขยายอำนาจเข้าไปในยุโรปชนิดที่แทบไม่มีอำนาจใดต้านทานไว้ได้ อย่างไรก็ตาม ชาติยุโรปที่ได้สัมผัสความศิวิไลซ์ของโลกอิสลามผ่านประสบการณ์ยาวนานในสงครามครูเสดได้นำความรู้เข้าไปเปลี่ยนผ่านยุโรปจากยุคกลางเข้าสู่ยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาหรือเรเนสซองค์ก่อนเข้าสู่ยุคเรืองรองทางปัญญากระทั่งสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม นำพาให้หลายชาติยุโรปก้าวขึ้นสู่ความเป็นจักรวรรดิ ไม่ว่าจะเป็นสเปน ปอร์ตุเกส ฮอลันดา อังกฤษ ฝรั่งเศส ปรัสเซีย (เยอรมนี) รัสเซีย ออสเตรีย-ฮังการี เข้าศตวรรษที่ 18 จักรวรรดิอุสมานียะฮฺแม้ตระหนักถึงปัญหาทว่าพัฒนาตามชาติยุโรปไม่ทันแล้ว ชนเติร์กเองมีส่วนอย่างสำคัญต่อการฟื้นตัวของยุโรป ในศตวรรษที่ 11 เมื่อจักรวรรดิเซลจุกรุ่งเรืองขึ้นในตะวันออกกลาง ชาวคริสต์ยุโรปที่นิยมแสวงบุญในดินแดนแถบนั้นร้องเรียนไปยังคริสตจักรแห่งโรมถึงการรบกวนจากชนเติร์กหลายครั้ง กระทั่งถึง ค.ศ.1071 เมื่อไบแซนไทน์เพลี่ยงพล้ำต่อเซลจุก นั่นเองที่เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดสงครามครูเสดครั้งที่ 1 ใน ค.ศ.1096 ลากยาวไปนานสองร้อยปี ชาวยุโรปที่เคยเข้าใจว่าโลกอาหรับล้าหลังเกิดอาการตื่นตะลึงกับความรุ่งเรืองในในโลกอิสลามเป็นเหตุผลให้เกิดการถ่ายเทความรู้เทคโนโลยีจากโลกอิสลามสู่ยุโรปกันยกใหญ่ผ่านทางซิซิลี เวนิส สเปนและพื้นที่อื่น นักประวัติศาสตร์ยุโรปยุคใหม่ยอมรับว่าเรเนสซองค์ในยุโรปเป็นผลมาจากความรุ่งเรืองของโลกอิสลามแท้ๆอีกปัจจัยหนึ่งที่เกิดจากชนเติร์กผ่านทางจักรวรรดิอุสมานียะฮฺคือการยึดนครคอนสแตนติโนเปิลใน ค.ศ.1453 ส่งผลให้ชาติยุโรปออกอาการกังวลว่าเส้นทางสายไหม (Silk road) เข้าสู่จีนและอินเดียซึ่งสะดวกที่สุดคือผ่านทางคาบสมุทรอะนาโตเลียสู่คอเคซัสและเอเชียกลางมีปัญหาเมื่ออุสมานียะฮฺยึดปากทางเข้าสู่อะนาโตเลียไว้แล้ว ชาวยุโรปพากันแสวงหาเส้นทางใหม่กระทั่งประสบความสำเร็จจากการเดินทางผ่านทะเลไปทางตะวันตกอ้อมโลกไปยังเอเชียอันเป็นที่มาของการค้นพบอเมริกาใน ค.ศ.1492 นำพาชาวยุโรปให้เข้าไปแสวงหาดินแดนและสินทรัพย์ในแผ่นดินใหม่สร้างความรุ่งเรืองกระทั่งผลักดันยุโรปให้เข้าสู่ยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาเร็วขึ้นเข้าศตวรรษที่ 18 จักรวรรดิอุสมานียะฮฺเมื่อต้องเผชิญกับชาติยุโรปที่ก้าวหน้ามากขึ้นแม้พยายามปรับตัวครั้งใหญ่ ทว่าความอ่อนแอภายในจักรวรรดิ ความขัดแย้งในราชสำนัก การปฏิวัติรัฐประหารโดยจานิสซารีและขุนนางที่เกิดขึ้นหลายครั้ง ปัญหาการคอร์รัปชั่นกินสินบาทคาดสินบนในหมู่ข้าราชการระดับสูงเป็นปัญหาใหญ่ที่อุสมานียะฮฺแก้ไขไม่สำเร็จ การพัฒนาจักรวรรดิเกิดปัญหาเมื่ออำนาจจากมือสุลตานกระจัดกระจายสู่มือขุนนาง สุลตานขาดบารมีที่จะจัดการปัญหาต่างๆเหล่านั้นได้ เมื่อถึงศตวรรษที่ 19 จักรวรรดิอุสมานียะฮฺก็ออกอาการเสื่อมถอยอย่างเห็นได้ชัด ความพยายามปรับตัวเข้าสู่ยุคใหม่ตามชาติยุโรปกลายเป็นเรื่องยากแสนเข็ญ ความห้าวหาญเด็ดเดี่ยวของชนเติร์กแท้ๆที่ช่วยรักษาจักรวรรดิไว้ได้ในยุคสมัยที่ชาติยุโรปกลายเป็นชาติล่าอาณานิคมกันแทบหมดแล้ว #drwinaidahlan, # ดรวินัยดะห์ลัน