เรื่องราวของชนเติร์กที่เขียนขึ้นในที่นี้ไม่ได้เรียงลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามประวัติศาสตร์สักเท่าไหร่ เขียนสลับไปมาเจตนาเพื่อให้ผู้อ่านได้รับรู้ประสบการณ์ของชนเติร์กที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอด ความเป็นชาตินักรบทำให้ชนกลุ่มนี้ลุกขึ้นยืนหยัดได้แทบทุกครั้ง สร้างสีสันให้กับชนชาตินี้อย่างมาก การล้มลุกคลุกคลานเกิดขึ้นมากกว่าหนึ่งครั้ง สาหัสที่สุดเห็นจะเป็นหลังการพ่ายแพ้ต่อทัพของจักรวรรดิทิมูริดใน ค.ศ.1402 สถานการณ์หลังความพ่ายแพ้ สุลต่านบาเยซิดที่ 1 ทรงสิ้นพระชนม์ระหว่างถูกคุมขัง ความพ่ายแพ้ถึงขนาดสูญเสียผู้นำระดับสุลต่านเช่นนี้เองที่ทำให้ #จักรวรรดิอุสมานียะฮฺหรือออตโตมันแทบดับสูญนักประวัติศาสตร์บางคนสรุปในทำนองว่าหากไม่มีการพ่ายแพ้ที่อังการา จักรวรรดิอุสมานียะฮฺอาจรุ่งเรืองไปมากกว่านี้ อำนาจที่หายไปของจักรวรรดิยาวนานถึงครึ่งศตวรรษเป็นผลให้ยุโรปฟื้นตัวขึ้นมาได้ อย่างไรก็ตาม หากมองอีกมุมหนึ่งกลับพบว่าความพ่ายแพ้ครั้งนั้นต่างหากที่ทำให้จักรวรรดิอุสมานียะฮฺยืนยงไปได้หลังจากนั้นนานกว่า 5 ศตวรรษ หากจักรวรรดิไม่ถูกฉุดรั้งไว้ ความฮึกเหิมของชนชาวเติร์กขณะที่ยังไม่มีความพร้อมด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยีอาจทำให้จักรวรรดิต้องสิ้นสุดลงตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 15 ก็เป็นได้ เวลานั้นทั่วทั้งยุโรปเริ่มตระหนักถึงอันตรายจากจักรวรรดิอุสมานียะฮฺและเริ่มรวมตัวกันต้านอำนาจของชนเติร์กมากขึ้น ความพ่ายแพ้ที่อังการาต่างหากที่ทำให้อุสมานียะฮฺหันมาทบทวนบทบาทของตนเองใหม่ติมูร์ผู้หยุดยั้งความฮึกเหิมของกองทัพอุสมานียะฮฺใน ค.ศ.1402 ไม่ได้มีเจตนาทำลายจักรวรรดิอุสมานียะฮฺเลย เพียงระแวงความปลอดภัยด้านทิศตะวันตกของจักรวรรดิทิมูริดในขณะที่เตรียมรุกไปทางตะวันออกเข้าสู่อินเดีย เมื่อได้ชัยชนะแล้ว ติมูร์ทรงถอนทัพจากอะนาโตเลียเพื่อบุกไปทางตะวันออกตามที่หวัง ทิ้งให้จักรวรรดิอุสมานียะฮฺปั่นป่วนไปนานกว่าสิบปีและซวนเซไปอีกสี่ทศวรรษ พิจารณาดูแล้วคล้ายคลึงกับเหตุการณ์เมื่อคราวเสียกรุงอยุธยาครั้งที่ 2 แทบไม่ผิดเพี้ยน ครั้งนั้นอยุธยาล่มสลาย พระมหากษัตริย์สิ้นพระชนม์ พม่าทิ้งให้แผ่นดินสยามแตกแยกเป็นรัฐเล็กรัฐน้อย จักรวรรดิอุสมานียะฮฺหลังศึกแห่งอังการาแทบไม่ต่างกัน จักรวรรดิแตกเป็นหลายเสี่ยง หลังช่วงเวลานี้ยาวนาน 11 ปี จักรวรรดิอุสมานียะฮฺตกอยู่ในภาวะวิกฤติชนิดไร้เสถียรภาพเรียกกันว่า Stage of Interregnum หรือภาวะไร้รัฐบาล แทบหมดสภาพความเป็นจักรววรรดิไปแล้วตามวัฒนธรรมเติร์ก ครอบครัวที่มีบุตรชายหลายคนมักใช้ความเข้มแข็งของบุตรแต่ละคนเป็นตัวกำหนดผู้ดูแลมรดก เป็นเช่นนี้เองที่ทำให้ออสมันที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรคนที่สามของเออร์ทูรุลก้าวขึ้นเป็นผู้นำกระทั่งสร้างจักรวรรดิอุสมานียะฮฺขึ้นมาได้ ฉันใดฉันนั้น สุลต่านบาเยซิดที่ 1 เมื่อทรงพ่ายแพ้กระทั่งสิ้นพระชนม์ ราชโอรสหลายองค์ต่างยกกำลังเข้าห้ำหั่นชิงบัลลังค์สุลต่านกัน ราชโอรสเหล่านี้มีศักดิ์เทียบเท่าเจ้าชายเรียกชื่อตำแหน่งว่า “เจเลบี” (Çelebi) ช่วง ค.ศ.1402-1413 อันเป็นช่วงไร้การปกครอง จักรวรรดิอุสมานียะฮฺจึงถูกแบ่งแยกและปกครองด้วยเจเลบีหลายองค์ บ้านเมืองสับสันวุ่นวายไปหมด #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน