ช่วงศตวรรษที่ 11-13 ในตะวันออกกลางที่ครอบคลุมถึงอะนาโตเลียและเปอร์เซียต้องยกให้เป็นศตวรรษของจักรวรรดิเซลจุกที่สถาปนาขึ้นใน ค.ศ.1037 มีอายุยาวนานศตวรรษครึ่งก่อนที่เซลจุกในเปอร์เซียและอิรักจะล่มสลายลงใน ค.ศ.1194 จากฝีมือของชนเติร์กด้วยกันทั้งเติร์ก-จีนแห่งอาณาจักรฆาราฆิตัยและเติร์ก-เปอร์เซียแห่งอาณาจักรควาเรซเมีย อย่างไรก็ตามเซลจุกในอะนาโตเลียยังดำรงอำนาจอยู่ในรูปของ #รัฐสุลต่านแห่งรุม (Sultanate of Rum) ก่อนจะแปรสภาพเป็นรัฐในอารักขาของมองโกลตั้งแต่ ค.ศ.1243 และล่มสลายลงอย่างสิ้นเชิงใน ค.ศ.1308 หลังเซลจุกทั้งสองส่วนล่มสลาย ถึง ค.ศ.1299 จักรวรรดิของชนเติร์กเผ่าออกุซกลับได้รับการสถาปนาขึ้นอีกครั้งในชื่อว่า “#จักรวรรดิออตโตมันหรืออุสมานียะฮฺ” จักรวรรดิใหม่นี้มีอายุยาวนานกว่าหกศตวรรษ สุลต่านองค์สุดท้ายลาฐานันดรไปเมื่อ ค.ศ.1923 นี้เองพร้อมการกำเนิดของ #สาธารณรัฐตุรกี นักประวัติศาสตร์จำนวนไม่น้อยมองว่าจักรวรรดิเซลจุกและอุสมานียะฮฺแม้มาจากเผ่าออกุซเช่นเดียวกันแต่ไม่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันทั้งด้านการสืบทอดราชวงศ์ และสายสัมพันธ์อื่น อย่างไรก็ตาม นักประวัติศาสตร์ด้านตุรกีศึกษารุ่นใหม่ในศตวรรษที่ 20-21 อย่าง Ibn-i Kemal, Neşri และอีกหลายคนกลับไม่ได้มองเช่นนั้นโดยยังเห็นว่าอุสมานียะฮฺหรือออตโตมันคือผู้สืบทอดที่แม้มิใช่ทางสายเลือดแต่เป็นทางอุดมการณ์ของเซลจุกอย่างปฏิเสธไม่ได้หลักฐานยืนยันการสืบทอดนี้มาจากคำประกาศของสุลต่านในราชวงศ์อุสมานียะฮฺหลายพระองค์ที่ยืนยันการสืบทอดต่อจาก #สุลต่านแห่งคอนย่า (#Konya) เมืองหลวงระยะต้นของรัฐสุลต่านแห่งรุม โดยระบุความเป็นเซลจุก ทั้งยังกล่าวถึงการสืบทอดอุดมการณ์เติร์กจากราชวงศ์ต่างๆที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นกระทั่งผ่านมาถึงจักรวรรดิเซลจุกและรัฐสุลต่านแห่งรุม นอกจากนี้ยังมีหลักฐานสำคัญนั่นคือผู้นำระดับวีรบุรุษของชนออกุซอย่าง “#เออร์ตูรุล ฆาซี” (#Ertugrul Ghazi) ผู้พ่อ (ค.ศ.1198-1281) และ “#ออสมัน ฆาซี” (#Osman Ghazi) ผู้ลูก (ค.ศ.1258-1326) ผู้สถาปนาจักรวรรดิอุสมานียะฮฺต่างแสดงความจงรักภักดีต่อสุลต่านแห่งรุมมาโดยตลอดแม้หลังการล่มสลายจากความพ่ายแพ้ต่อมองโกล อีกทั้งสองผู้นำยังคงเรียกขานรัฐสุลต่านแห่งรุมว่าจักรวรรดิเซลจุกอันแสดงถึงความสัมพันธ์ของสองอาณาจักร เมื่อออสมันสถาปนาราชวงศ์ใหม่คืออุสมานียะฮฺขึ้นจึงเปรียบเสมือนการสืบทอดอำนาจต่อเนื่องกันของชนเติร์กเผ่าออกุซอย่างปฏิเสธมิได้ ความเชื่อในอุดมการณ์ดังกล่าวมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาบทบาทของรัฐตุรกีสมัยใหม่ว่าไล่เรียงไปได้จนถึงจักรวรรดิเซลจุกและจักรวรรดิฆาสนาวิดซึ่งสถาปนาขึ้นใน ค.ศ.977 โดยมีชนออกุซเป็นกำลังสำคัญ ความสืบเนื่องดังกล่าวดำเนินมากระทั่งถึงรัฐตุรกีสมัยใหม่ เป็นเพราะเหตุนี้ประธานาธิบดีตุรกีในศตวรรษที่ 21 อย่าง #เรเสบ เทยิบ เออร์โดอัน (#Resep Tayyip Erdogan) จึงกล่าวยืนยันถึงอุดมการณ์ข้างต้น ไม่เพียงเท่านั้นยังกล่าวถึงความสัมพันธ์ของตุรกีกับประเทศต่างๆในเอเชียกลางที่มีชนเติร์กเป็นประชากรหลัก ฝันของรัฐตุรกีสมัยใหม่จึงมิได้แคบอยู่เพียงการฟื้นฟูจักรวรรดิอุสมานียะฮฺเท่านั้น #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน