อะนาโตเลียและตะวันออกกลางในคริสต์ศตวรรษที่ 12 (ค.ศ.1101-1200) เต็มไปด้วยความสับสนอลหม่าน สงครามครูเสดครั้งที่ 1 จากปลายศตวรรษที่ 11 ส่งผลลากยาวเข้ามาในศตวรรษที่ 12 โดยทัพครูเสดยึดเยรูซาเล็มไว้ได้ทั้งอัศวินครูเสดจำนวนไม่น้อยยึดหลายเมืองในปาเลสไตน์และอะนาโตเลียจัดตั้งอาณาจักรเล็กๆของตนขึ้น สร้างแรงกดดันต่ออาณาจักรมุสลิมในพื้นที่ซึ่งในเวลานั้น ได้แก่ รัฐสุลต่านแห่งรุมในอะนาโตเลีย และราชวงศ์ฟาติมิดที่ปกครองอียิปต์ก่อนสูญอำนาจให้แก่ซอลาฮุดดิน (Salahuddin) (ค.ศ.1138-1193) แม่ทัพชาวเคิร์ดของรัฐสุลต่านแห่งรุมซึ่งตั้งราชวงศ์อัยยูบิด (Ayyubid) ขึ้นปกครองอียิปต์ตั้งแต่ ค.ศ.1171 นอกจากนี้ยังมีรัฐมุสลิมเล็กๆ ที่ขึ้นกับคอลีฟะฮฺแห่งแบกแดดที่ในเวลานั้นอ่อนอำนาจลงมากแล้วสงครามครูเสดครั้งที่ 1 (ค.ศ.1096-1099) นำไปสู่สงครามครั้งที่ 2 (1145-1149) และ 3 (1189-1192) เป็นชนวนให้เกิดการปะทะกันระหว่างรัฐต่างๆในอะนาโตเลียและซีเรียไม่เฉพาะกองทัพคริสต์กับมุสลิม แต่ระหว่างคริสต์ด้วยกันคือคาธอลิกกับออร์โธดอกซึ่งได้แก่ทัพครูเสดกับจักรวรรดิไบแซนไทน์ ระหว่างมุสลิมชีอะอฺกับสุนหนี่อันได้แก่ราชวงศ์ฟาติมิดแห่งอียิปต์กับรัฐสุลต่านแห่งรุมจากอะนาโตเลียและซีเรีย นอกจากนี้ยังมีการปะทะกันระหว่างสุนหนี่กับสุนหนี่บ้างประปรายได้แก่ชนเติร์กเผ่าต่างๆกับเคิร์ดที่ตั้งราชวงศ์อัยยูบิด (Ayyubid) (ค.ศ.1171-1260) เข้าปกครองอียิปต์แทนฟาติมิด วุ่นวายสับสนชวนปวดหัวกันได้ถึงขนาดนั้น กลางศตวรรษที่ 12 ถึงศตวรรษที่ 13 ความยุ่งเหยิงเพิ่มทวีขึ้นเมื่อจักรวรรดิมองโกล (ค.ศ.1206-1368) ถือกำเนิดขึ้นในเอเชียกลาง โอเกได (Ogedai) บุตรชายของเจงกิสข่านมอบหมายให้ขุนศึก “ไบจู” (Baiju) นำทัพรุกลงใต้เข้าสู่อิหร่านสลายอำนาจของรัฐควาเรซเมียใน ค.ศ.1228 ก่อนบุกเข้าอะนาโตเลีย เอาชนะรัฐสุลต่านแห่งรุมที่มีกำลังมากกว่าได้ใน ค.ศ.1243 กระทั่งกลายเป็นรัฐบริวารของมองโกล ช่วงปลายศตวรรษที่ 13 ชนเผ่าเติร์กในอะนาโตเลียพากันแยกตนเองเป็นรัฐอิสระที่เรียกว่า “เบลิกส์” (Beyliks) หรือเอมิเรตส์ (Emirettes) ในภาษาอาหรับก่อกบฏต่อมองโกล ทั้งต้องปะทะกับรัฐครูเสด จักรวรรดิไบแซนไทน์ รัฐอาร์เมเนีย จอร์เจีย บางครั้งยังต้องต่อต้านทัพจากอาณาจักรฟาติมิดบ้าง อัยยูบิดบ้าง รัฐที่มิใช่เติร์กหลายแห่งเข้าสวามิภักดิ์ต่อมองโกลเพื่อรบกับฝ่ายอื่น สร้างความอลหม่านมากขึ้นในตะวันออกกลางและอะนาโตเลีย กลางศตวรรษที่ 13 ช่วงทศวรรษ 1240-1250 ไบจูกับทัพมองโกลยังคงมะงุมมะงาหราอยู่ในตะวันออกกลาง แม้เข้าครอบครองอะนาโตเลียโดยมีอำนาจเหนือรัฐสุลต่านแห่งรุมได้แต่ยังเสียเวลาอยู่กับบรรดาเบลิกส์ของเผ่าเติร์ก ขณะที่ในอิหร่านเอง ทัพมองโกลไม่สามารถยึดครองได้เด็ดขาด ทั้งรัฐคอลีฟะฮฺในอิรักที่แม้ร่วงโรยอำนาจทว่ายังคงท้าทายอำนาจของมองโกลอยู่ สุดท้ายไบจูจึงถูกปลดโดยผู้ที่มาแทนคือ “ฮูเลกู” (Hulegu) น้องชายของมองเก (Mongke) ข่านใหญ่ของมองโกลเวลานั้น ฮูเลกูนี่เองที่นำทัพมองโกลและพันธมิตรเข้าทำลายแบกแดดใน ค.ศ.1258 สังหารคอลีฟะฮฺราชวงศ์อับบาสิยะฮฺองค์สุดท้ายทำลายแบกแดดหมดสิ้นทั้งเข่นฆ่ามุสลิมไปไม่น้อยกว่าเจ็ดแสนชีวิต เป็นความวิปโยคใหญ่หลวงในโลกมุสลิม #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน