ชนชาวเติร์กกับพลังและโมเมนตัมที่ขับเคลื่อนประวัติศาสตร์โลก ตอนที่ 21

ตะวันออกกลาง เอเชียกลาง ผ่านคอเคซัสไปจนถึงอะนาโตเลียช่วงศตวรรษที่ 11 เข้าศตวรรษที่ 12 ชนชาวเติร์กที่เคลื่อนย้ายมาจากเอเชียกลางกระจายอยู่เต็มพื้นที่ไปหมด ด้านตะวันออกของอิหร่าน ชนเติร์ก-เปอร์เซียสร้างจักรวรรดิใหญ่คือเซลจุกที่เวลานั้นเข้ามามีอิทธิพลอย่างสูงในอิรัก ช่วยกอบกู้สถานะของคอลีฟะฮฺอับบาสิยะฮฺให้กลับมาปกครองแบกแดดได้อีกครั้ง ทั้งยังนำทัพไปปกป้องชนเติร์กในอะนาโตเลีย หลังชัยชนะอย่างเด็ดขาดต่อจักรวรรดิไบแซนไทน์ในการรบที่มานซิเกิร์ต อะนาโตเลียตะวันออก ใน ค.ศ.1071 ชุมชนเติร์กในอะนาโตเลียช่วยกันสร้างรัฐสุลต่านแห่งรุมขึ้นโดยยังนับเป็นส่วนหนึ่งของเซลจุก แผ่ขยายอาณาจักรไปทั่วคาบสมุทรอะนาโตเลีย เกิดการปะทะกับชุมชนชาวคริสต์ออร์โธดอกทั้งกรีก อาร์เมเนีย จอร์เจีย เซิร์บบ่อยครั้ง อีกทั้งยังปะทะกับนักแสวงบุญชาวคริสต์จากยุโรปซึ่งส่วนใหญ่เป็นคาธอลิกที่เดินทางผ่านอะนาโตเลียเข้าไปยังปาเลสไตน์ ความขัดแย้งกับชาวคริสต์ทั้งออร์โธดอกและคาธอลิกเหล่านี้เองคือชนวนสำคัญนำไปสู่สงครามครูเสดครั้งที่ 1 ใน ค.ศ.1095 ที่ลากยาวเป็นมหากาพย์สงครามต่อเนื่องไปนานกว่าสองศตวรรษชัยชนะของเซลจุกที่มานซิเกิร์ตถึงขนาดจับเป็นจักรพรรดิไบแซนไทน์ได้กลายเป็นเงื่อนปมที่นำไปสู่ที่การระดมชาวคริสต์จากยุโรปเข้าสงครามครูเสดกับชนชาวเติร์กและอาหรับในพื้นที่ตะวันออกกลางในอีกสองทศวรรษหลังจากนั้น เป็นสงครามที่สับสนอลหม่าน นอกเหนือจากการรบพุ่งระหว่างมุสลิมกับชาวคริสต์แล้ว บ่อยครั้งคริสต์ออร์โธดอกยังรบกับคริสต์คาธอลิก มุสลิมเติร์กรบกับมุสลิมเคิร์ด มุสลิมชีอะอฺรบกับมุสลิมสุนหนี่ เป็นสงครามการเมืองมากกว่าสงครามศาสนา ผลของสงครามคือการกำเนิดรัฐของอัศวินครูเสดกระจัดกระจายอยู่ในหลายพื้นที่ของอะนาโตเลียและตะวันออกกลาง เป็นรางวัลสำหรับอัศวินครูเสดจากยุโรปที่เข้าร่วมสงครามครูเสด การชิงเยรูซาเล็มจากมุสลิมบางครั้งเป็นคล้ายข้ออ้างเนื่องจากอัศวินครูเสดจำนวนไม่น้อยเดินทางมาไม่ถึงเยรูซาเล็ม ชิงเมืองในอะนาโตเลียได้สำเร็จแล้วก็พอใจกันอยู่แค่นั้นสงครามคือเครื่องมือแก้ปัญหาในทางการเมือง หามิตรแท้ศัตรูถาวรไม่ได้ หลายครั้งทหารครูเสดจับมือกับราชวงศ์ฟาติมิดที่เป็นชีอะอฺรบกับมุสลิมเติร์กและเคิร์ดที่เป็นสุนหนี่ ภาพของสงครามครูเสดในการรับรู้ของคนทั่วไปคือสงครามศาสนาระหว่างคริสต์กับอิสลาม เรื่องจริงกลับแตกต่างออกไปเห็นชัดเจนในสงครามครูเสดครั้งที่ 2 และ 3 ที่บางสงคราม คริสต์คาธอลิกจับมือกับมุสลิมซีอะอฺรบกับมุสลิมสุนหนี่ที่จับมือกับคริสต์ออร์โธดอก สับสนอลหม่านจนไม่รู้ว่าฝ่ายไหนเป็นฝ่ายไหน บางช่วงบางตอนยังผสมผสานไปกับการแย่งชิงสมบัติกันเองระหว่างมุสลิมด้วยกันหรือคริสต์ด้วยกัน บางสงครามดูคล้ายเป็นการแสวงโชคของชาวยุโรปเสียมากกว่า จึงไม่แปลกใจเลยที่บันทึกถึงสงครามครูเสดในลักษณะสงครามศาสนาระหว่างคริสต์กับอิสลามแทบหาไม่ได้เลยในฝั่งมุสลิมตะวันออกกลางและอะนาโตเลีย เรื่องราวของสงครามครูเสดทั้งหมดเป็นบันทึกที่เผยแพร่มาจากฝั่งยุโรประยะหลังที่มุสลิมก่อนหน้านั้นแทบไม่รู้จัก อ่านเรื่องราวของ #พระเจ้าริชาร์ดใจสิงห์ หรืออัศวินเทมปลาร์แล้วทำให้นึกถึง “จะเด็ด” ในนิยายผู้ชนะสิบทิศของยาขอบที่คนพม่าไม่รู้จัก สงครามครูเสดจากยุโรปเป็นอย่างนั้นจริงๆในความเข้าใจของมุสลิมในตะวันออกกลางและอะนาโตเลีย #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *