ชนชาวเติร์กกับพลังและโมเมนตัมที่ขับเคลื่อนประวัติศาสตร์โลก ตอนที่ 3

คนเชื้อสายเติร์กในโลกทุกวันนี้มีอยู่ 160-180 ล้านคน เกือบครึ่งหนึ่งอาศัยอยู่ในประเทศตุรกี อีกครึ่งหนึ่งอาศัยอยู่ตามประเทศต่างๆในเอเชียกลาง โดยเป็นประชากรส่วนใหญ่ในคาซักสถาน อุซเบกิสถาน เติร์กเมนิสถาน กีร์จิสถาน เป็นประชากรส่วนสำคัญในทาจิกิสถาน อัฟกานิสถาน อิหร่าน อะเซอร์ไบจัน จีน รัสเซีย มองโกเลีย เป็นประชากรกลุ่มน้อยในยุโรป อัฟริกาเหนือ ตะวันออกกลาง ปากีสถาน ชนชาติเติร์กประกอบไปด้วยชนเผ่าต่างๆมากมาย ภาษาพูดเหมือนกันบ้าง คล้ายกันบ้าง มีรากเดียวกันบ้าง กลุ่มใหญ่ๆอย่างเช่น ออกุซ กิปชัก ชูวาช อุยกูร์ คาร์ลุก แต่ละกลุ่มยังแบ่งเป็นกลุ่มย่อยอีกมากมาย จดจำกันไม่หวัดไม่ไหวในอดีตชนเชื้อสายเติร์กที่เคลื่อนย้ายจากเอเชียตะวันออกและมองโกเลียเข้ามาในเอเชียกลางตั้งรกรากปะปนไปกับชนชาติอื่นซึมซับเอาอารยธรรม ภาษาพูด ศาสนาไว้ในกลุ่มจนกระทั่งแยกไม่ออกว่าชนชาติเดิมเป็นกลุ่มไหน ตัวอย่างที่เห็นชัดเช่นในประเทศอะเซอร์ไบจัน ชนกลุ่มนี้ศึกษาลึกลงไปในดีเอ็นเอคือชนเชื้อสายเติร์ก พูดภาษากลุ่มเติร์ก นับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอะฮฺ จึงนับตนเองเป็นเปอร์เซียมากกว่าเติร์ก คนเผ่าทาจิกซึ่งเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ในประเทศทาจิกิสถาน ชนกลุ่มนี้มีเชื้อสายผสมระหว่างเปอร์เซียกับเติร์กที่หนักไปทางเปอร์เซีย พูดภาษากลุ่มเปอร์เซีย เป็นมุสลิมสายสุนหนี่ทว่ายังนับตนเองเป็นเปอร์เซีย ผู้คนในเอเชียกลางปัจจุบันจึงมีเชื้อสายเติร์กเป็นส่วนใหญ่ รองลงมาคือเปอร์เซีย ชนส่วนน้อยคือสลาฟ เกาหลีซึ่งนับเป็นญาติห่างๆกับชนชาวเติร์ก นอกจากนี้ยังมีชนเผ่าหุยซึ่งเป็นชนเชื้อสายจีนนับถือศาสนาอิสลาม การผสมผสานเชิงเชื้อสายของคนในเอเชียกลางปัจจุบันเป็นอย่างไร ย้อนกลับไปในอดีตก็ไม่แตกต่างกันนัก ชนส่วนใหญ่มีเชื้อสายเติร์กโดยก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 8 เป็นกลุ่มชนที่มิใช่มุสลิมที่เริ่มเปลี่ยนเป็นมุสลิมเมื่ออาณาจักรอิสลามภายใต้ราชวงศ์อับบาสิยะฮฺจากเปอร์เซียแผ่อำนาจขึ้นไปจนกระทั่งผลักดันอำนาจของจีนออกไปได้ช่วงกลางศตวรรษที่ 8 เป็นผลให้มุสลิมส่วนใหญ่ในเอเชียกลางเป็นอิสลามสายสุนหนี่ ความเป็นอิสลามเคร่งครัดบ้างชะลอตัวลงบ้างโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสองช่วงคือในยุคสมัยที่มองโกลแผ่อำนาจลงมาปกครองช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 13-14 อีกช่วงหนึ่งคือยุคสมัยของโซเวียตในคริสต์ศตวรรษที่ 19-20 อิสลามในเอเชียกลางที่ผ่านประสบการณ์ขมขื่นมาอย่างนี้จึงจืดจางลงบ้างในช่วงหนึ่งค่อยๆหวนคืนกลับมาในวันนี้ แต่จะให้เคร่งครัดเช่นที่พบในเอเชียอาคเนย์คงไม่ใช่อย่างนั้น ชนเชื้อสายเติร์กมีความเป็นนักรบสูง เมื่อครั้งมองโกลรุกลงมา ชนชาวเติร์กมุสลิมต้องรบกับเติร์ก-มองโกลที่ไม่ใช่มุสลิม ภายหลังเติร์ก-มองโกลเหล่านั้นเปลี่ยนศาสนาเป็นอิสลามไปจนหมด ในยุคสมัยของเซลจุกและติมูร์สร้างจักรวรรดิของตนเองขึ้นมาบ้างเมื่อแผ่อำนาจลงไปในรัฐอิสลามต้องรบราฆ่าฟันกับมุสลิมด้วยกัน ผลประโยชน์ทางการเมืองจึงสวนทางกับคำสอนในศาสนาอิสลามอยู่บ่อย เมื่อทำความเข้าใจกับอดีตได้ ในวันนี้คงเลิกซีเรียสกับความขัดแย้งระหว่างมุสลิมด้วยกันเองในตะวันออกกลางปัจจุบัน วิเคราะห์ลึกลงไปจึงไม่ใช่ประเด็นทางศาสนาเป็นการเมืองเรื่องผลประโยชน์ล้วนๆ #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *