ก่อนอื่นต้องรู้จัก “เทโลเมียร์” (Telomere) กันเสียก่อน เทโลเมียร์คือส่วนของดีเอ็นเอบริเวณปลายสายทั้งสองด้านของโครโมโซมแต่ละแท่งที่อยู่ในเซลล์ เทโลเมียร์ทำหน้าที่คล้ายหมวกนิรภัยหรือปลอกหุ้มเชือกผูกรองเท้าที่อยู่บริเวณปลายสายโครโมโซมช่วยปกป้องรหัสพันธุกรรมในจีโนม ทุกครั้งที่มีการถอดรหัสทั้งสายของโครโมโซม เทโลเมียร์จะค่อยๆหดสั้นลงทีละน้อย หากสั้นจนกระทั่งโครโมโซมแบ่งตัวไม่ได้เมื่อไหร่ อายุขัยก็สิ้นสุด ความรู้ที่มีอยู่เช่นนี้ทำให้เชื่อกันว่าเทโลเมียร์คือตัวกำหนดอายุขัย หากประสงค์จะมีอายุยืนยาวจำเป็นต้องหาหนทางทำให้เทโลเมียร์หดสั้นช้าลง อย่าให้เซลล์แบ่งตัวบ่อย เชื่อกันอย่างนั้น
เคยมีงานวิจัยเก่าๆพบว่าการจำกัดอาหารให้พลังงานเป็นต้นว่าการอดอาหารหรือการถือศีลอดอย่างถูกวิธีส่งผลให้อายุขัยยืนยาวขึ้น จึงเชื่อกันว่าการจำกัดพลังงานช่วยให้การแบ่งตัวของเซลล์เกิดช้าลง เทโลเมียร์ของผู้จำกัดอาหารจึงยาวกว่าเทโลเมียร์ของผู้กินอาหารตามปกติ ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเพนน์สเตท (Penn State) จึงประสงค์จะพิสูจน์ความเชื่อลักษณะนี้ ทั้งยังอยากรู้เพิ่มเติมด้วยว่ามีปัจจัยอะไรอื่นอีกบ้างที่เข้ามาเกี่ยวข้อง อยากรู้ด้วยว่าพลังงานจากอาหารเกี่ยวข้องมากขนาดไหนกับการหดสั้นลงของเทโลเมียร์ เมื่ออยากรู้อย่างนี้จึงออกแบบงานวิจัยเพื่อศึกษาผลของการจำกัดอาหารและพลังงานปริมาณ 20 และ 60% ในอาสาสมัครจำนวน 175 คนแบ่งเป็นสองกลุ่ม จำนวนสองในสามให้จำกัดอาหาร อีกหนึ่งในสามให้กินอาหารตามปกติ
ทีมวิจัยทำการศึกษานานสองปี ตีพิมพ์ผลงานในวารสาร Aging Cell เดือนเมษายน 2024 ผลการศึกษาออกมาน่าสนใจ ลองไปติดตามดูกันดีกว่า ทั้งนี้อย่างที่บอกคือทีมวิจัยเห็นว่างานการศึกษาชิ้นเก่าๆในสัตว์ทดลอง หากให้จำกัดพลังงานจากอาหารมากถึงระดับนี้จะช่วยยืดอายุขัยของสัตว์ทดลองได้ ซึ่งเชื่อว่าเป็นผลจากสายเทโลเทียร์หดสั้นช้าลง ดังนั้นคนหรือสัตว์ที่มีอายุทางเวลา (Chronological age) เท่ากัน ใครมีเทโลเมียร์ยาวกว่าย่อมมีอายุขัยมากกว่า ทฤษฎีว่าไว้อย่างนั้น
ในงานวิจัยปรากฏว่าอาสาสมัครในกลุ่มที่ถูกจำกัดพลังงานเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมที่กินอาหารปกติ ศึกษานานสองปี ความยาวของเทโลเมียร์กลับไม่ต่างกัน การจำกัดอาหารส่งผลให้เทโลเมียร์หดสั้นเร็วขึ้นในปีแรก ทว่าหดสั้นช้าลงในปีที่สอง ทีมวิจัยเข้าใจว่าการศึกษานานสองปี ช่วงเวลาอาจสั้นเกินไปทำให้ผลการทดลองไม่เป็นไปตามที่คิดนั่นประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งคือความยาวเทโลเมียร์แม้ไม่มีผล ทว่าอาจมีปัจจัยอื่นเข้าไปมีอิทธิพลทำให้อายุขัยยืนยาวขึ้น เป็นต้นว่า ระดับคอเลสเตอรอลหรือไขมันหรือน้ำตาลในเลือดที่อาจเป็นปัญหา หรือความเครียดหรือฮอร์โมนบางตัวอาจเข้าไปเกี่ยวข้อง กลายเป็นว่ายังมีปัจจัยอื่นที่ค่อนข้างซับซ้อนเข้าไปมีอิทธิพลต่ออายุขัย ดูจากความยาวของเทโลเมียร์อย่างเดียวคงไม่เพียงพอ สรุปออกมาอย่างนั้น
#ดรวินัยดะห์ลัน, #drwinaidahlan, #telomeres, #เทโลเมียร์กับอายุขัย