เรื่องนี้เกิดจากการประชุมภายในของหน่วยงาน เห็นว่าเป็นประโยชน์จึงขอนำมาขยายต่อ
วันศุกร์ช่วงเช้า ผมมีโอกาสคุยกับนักวิทย์ของศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศวฮ.) ในสารพัดเรื่อง เสียดายที่ไม่ได้คุยกับนักวิทย์ทุกคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่สำนักงาน ศวฮ.ปัตตานีและเชียงใหม่ เสียดายยิ่งกว่านั้นคือพลาดโอกาสคุยกับอีกหลายคนที่ไม่ได้เป็นนักวิทย์ในทั้งสามสำนักงาน
ที่ต้องคุยก็เพราะห่วงอนาคตของทุกคนไม่เฉพาะที่ ศวฮ. แต่ทั่วไปหมดทั้งประเทศรวมทั้งในหน่วยงานอื่น โลกเปลี่ยนแปลงเร็วมาก แต่จะเร็วจนน่ากลัวหรือเปล่าขึ้นกับความยืดหยุ่นของแต่ละองค์กรและแต่ละคน ว่าพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงได้มากน้อยแค่ไหน เพียงไรและอย่างไร
วันนี้ไม่มีใครไม่รู้จักคำว่า “ดิสรัพชั่น” ที่ไม่เป็นเฉพาะเทคโนโลยีอีกต่อไป non-technology ก็สร้างดิสรัพชั่นได้ อย่างที่พวกเราในทุกมหาวิทยาลัยเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างใหม่ของกระทรวงใหม่นั่นไง เป็นดิสรัพชั่นด้านนโยบาย ยุทธศาสตร์ รวมไปถึงวิธีคิดที่ปรับแต่งใหม่ ลองสังเกตดูเถอะหลายเรื่องแทบไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเทคโนโลยีเสียด้วยซ้ำ non-technological disruption เหล่านั้น เป็นดิสรัพชั่นที่น่ากลัวยิ่งกว่าเก่าเพราะบ่อยครั้งหาเหตุผลอธิบายไม่ได้ เริ่มจากใครก็ไม่รู้ ปัญหาลักษณะนี้จะมีมาบ่อยขึ้นในอนาคต จึงจำเป็นต้องปรับตัว ยุค comfort zone ที่เคยผ่านมาได้ผ่านพ้นไปแล้ว
อีกเรื่องหนึ่งที่ขอให้เตรียมตัวรับกันให้ดีคือการมาของยุค The end game ยุคของ disruptive technology ผ่านเข้ามาได้กว่าห้าปี หมดเวลาในยุคของเขาแล้ว ยุค The end game ที่ส่วนหนึ่งเกิดจากความสับสนในยุค disruption ทั้ง technology และ non-technology นั่นคือผู้บริหารเริ่มมองแทบทุกสิ่งเป็นวิกฤติ หนทางรอดเป็นคล้ายกระดานหกในความคิดของบางคนนั่นคือพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน กรณีมหาวิทยาลัย การเรียนการสอนชนิดแยกคณะ แยกวิชาชีพ แยกหลักสูตร จะหายไปอย่างรวดเร็ว การศึกษาที่เคยเป็นสิ่งจำเป็นไม่มีไม่ได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาในระบบจะถูกตั้งคำถาม ซึ่งบางคำถามได้ก้าวเข้ามาแล้ว เป็นต้นว่าคำพูดของฝ่ายการเมืองที่ว่าหากไม่ได้รับงบประมาณ มหาวิทยาลัยจะเลี้ยงตนเองได้ไหม อย่างไร นี่คือสัญญาณเตือนของยุค The end game ที่รุนแรงและโหดร้ายยิ่งกว่าเก่า ศวฮ.จะรอดจากสถานการณ์เช่นว่านี้อย่างไร
ทางรอดของ ศวฮ.จะเป็นทางรอดเดียวกับทางรอดของประเทศนั่นคือต้องนำเสนอวิสัยทัศน์ใหม่ คุณค่าใหม่ นวัตกรรมใหม่ ที่นำไปสู่มูลค่าเพิ่มขอวประเทศ หากเป็นรูปอื่นที่ไม่ใช่เศรษฐกิจอย่างเช่นสังคมต้องแสดงภาพให้ชัด ที่สำคัญคือควรเป็นภาพที่มองโดยคนรุ่นใหม่ซึ่งมีความใกล้ชิดกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและสิ่งที่ไม่มช่เทคโนโลยีมากกว่าคนรุ่นเก่าที่จำนวนหนึ่งยังจมปลักกับความเชื่อและค่านิยมเดิม คนรุ่นเก่าเหล่านั้นต้องเปิดทางให้คนรุ่นใหม่ได้เปิดตัวออกมาแสดงฝีมือ นี่คือยุคของคนรุ่นใหม่ที่ต้องพร้อมในวันนี้และจำเป็นต้องเริ่มกันเดี๋ยวนี้