งานพัฒนาอาหารเพื่ออนาคตสำหรับประชากรโลก 9 พันล้านคนใน ค.ศ.2050

ประชากรโลก ค.ศ.2024 มีอยู่ 7.8 พันล้านคน ใน ค.ศ.2050 จะมี 9.7 พันล้านคน ทว่าเมื่อพิจารณาว่าหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยมีประชากรลดลงจำนวนประชากรโลก 9 พันล้านคนใน ค.ศ.2050 น่าจะเป็นไปในทิศทางนั้น การผลิตอาหารสำหรับประชากรอนาคตหากยังใช้เทคโนโลยีเก่า แนวคิดเก่า กระบวนการเก่าเห็นทีจะยากที่จะดูแลประชากรจำนวนมหึมาระดับนั้น นักวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีหลายประเทศจึงคิดถึงกระบวนการใหม่ ที่จะใช้ในการผลิตอาหารในปริมาณมหึมา เทคโนโลยีด้านชีวภาพ ยีน อุตสาหกรรมอาหารสมัยใหม่ ผนวกเข้ากับเทคโนโลยีเอไอ ไอโอที บล็อกเชน และอีกสารพัดเทคโนโลยีจำเป็นต้องดึงเข้ามาใช้

วันนี้ 13 มิถุนายน 2567 มีงาน Propak Asia 2024 จัดขึ้นที่ศูนย์แสดงสินค้าไบเทค บางนา ผมได้รับเชิญให้ไปบรรยายเรื่อง Halal Challenge and Future Trend จึงคิดจะนำแนวคิดเรื่องการพัฒนาอาหารปริมาณมหึมาเพื่อโลกอนาคตที่จะมีประชากรเฉียดหมื่นล้านคนไปนำเสนอ ขณะเดียวกันมีผู้แทนจากบริษัท Simple Planet ของเกาหลีใต้มาพบผมและทีมงานที่ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศวฮ.) เมื่อวันวาน 12 มิถุนายน 2567 เชิญชวนให้ ศวฮ.ร่วมงานวิจัยผลิตภัณฑ์อาหารใหม่ที่ทางเกาหลีใต้ร่วมกับสิงคโปร์พัฒนาขึ้น

ผลิตภัณฑ์ที่ว่านี้ผลิตโดยเทคโนโลยียีนโดยใช้โปรตีนและไขมันจำเพาะจากแมลงและสัตว์ทะเล เพื่อให้ได้โปรตีนที่มีคุณภาพรวมถึงรสชาติและรสสัมผัสไม่ต่างจากเนื้อสัตว์เช่นวัว คุณสมบัติทางโปรตีนครบถ้วนตามที่ร่างกายมนุษย์ต้องการ ทว่ามีกรดไขมันคุณภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรดไขมันโอเมก้าสามจากสัตว์ทะเล กระบวนการผลิตใช้เทคโนโลยีชีวภาพระดับก้าวหน้าควบคุมกระบวนการผลิตด้วยเอไอ กระบวนการคุณภาพความปลอดภัยเป็นไปตามมาตรฐาน ที่สำคัญคือสถานะฮาลาล (Halal status) เพื่อให้ครอบคลุมประชากรทั่วทั้งโลก โดยใช้แนวทาง HAL-Q ที่พัฒนาขึ้นโดย ศวฮ. นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้แทนของ Simple Planet คือมิสเตอร์เจมส์ ลี หนุ่มจีนอเมริกันเดินทางมาประเทศไทย และขอพบทีมงาน ศวฮ.

มีหลายประเด็นที่จำเป็นต้องปรึกษาหารือกัน สิ่งแรกที่ ศวฮ.เห็นด้วยอย่างยิ่งคือประเด็นฮาลาล หากต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลเพื่อโลกอนาคต มุสลิมจะกลายเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ที่สุด ประเด็นฮาลาลย่อมกลายเป็นประเด็นสำคัญ มีหลายคำถามที่จะต้องหาคำตอบในเชิงศาสนา แมลงชนิดใดควรนำมาใช้ กระบวนการเชือดตามหลักชารีอะฮฺจำเป็นหรือไม่ สำหรับแมลงขนาดใด หากเป็นไข่หรือเซลล์เพาะจะเป็นปัญหาไหม ทางออกเป็นอย่างไร เรื่องเหล่านี้จำเป็นต้องปรึกษาหารือระดับประเทศคือจุฬาราชมนตรีและนานาชาติคือ SMIIC โดยหาทางออกที่เป็นไปตามหลักการทางศาสนาอิสลาม

#ดรวินัยดะห์ลัน, #drwinaidahlan, #อาหารอนาคต,

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *