เนื้อหาในหนังสือของอาจารย์ศราวุฒิบทที่ 7 ว่าด้วยภาษาอาหรับและการติดต่อสื่อสาร บทที่ 8 ว่าด้วยศาสนาในสังคมอาหรับ เน้นไปที่อิสลาม หากจะกล่าวว่าเป็นของแถมสร้างผลกำไรแก่ผู้อ่านก็คงไม่ผิดนัก ช่วยให้ได้รู้จักทั้งภาษาทั้งศาสนาอันเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้เข้าใจคนอาหรับได้มากขึ้น โดยผมแนะนำให้ผู้สนใจในเรื่องการเงินอิสลามหรือ Islamic finance ไม่ว่าจะเป็นระบบธนาคารอิสลามหรือการเงินชารีอะฮฺ (مصرفية إسلامية Shariah-compliant finance) ระบบประกันภัยอิสลามหรือตะกาฟุล (التكافلTakaful) ระบบตราสารหนี้อิสลามหรือซูกุก (صكوك Sukuk) เสาะแสวงหาเนื้อหาเพิ่มเติมเพื่อศึกษากิจกรรมทางด้านนี้ให้มากขึ้น เนื่องจากการเติบโตด้านการเงินอิสลามเป็นไปอย่างรวดเร็วทั้งในสังคมมุสลิมและมิใช่มุสลิม หากอาจารย์ศราวุฒิหันมาเขียนเนื้อหาทางด้านนี้คงต้องเพิ่มขนาดหนังสือมากขึ้นเป็นเท่าตัว ทั้งนี้เป็นที่รับรู้กันในวงการเศรษฐกิจฮาลาล (Halal Economy) ว่าเศรษฐกิจการเงินฮาลาลหรือการเงินอิสลามนั้นมีมูลค่ามากกว่าร้อยละ 60 ของมูลค่าเศรษฐกิจฮาลาลโดยรวม จึงต้องขอแรงผู้อ่านให้เสาะหาความรู้ทางด้านนี้เพิ่มเติมจากเนื้อหาในบทที่ 8 ที่อาจารย์ศราวุฒิได้เริ่มต้นไว้ในเรื่องกว้าง ๆ ว่าด้วยธนาคารอิสลาม (Islamic Banking)
ใครสนใจใฝ่รู้ในเรื่องราวทางประวัติศาสตร์การเริ่มต้นของศาสนาอิสลามในคาบสมุทรอาระเบียช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 7 อาจารย์ศราวุฒิเกริ่นไว้ในบทที่ 8 พ่วงเข้าไปกับหลักการต่าง ๆ ในศาสนาอิสลาม ช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจศาสนาอิสลามได้มากขึ้น เนื้อหาในบทนี้จึงสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการติดต่อกับมุสลิมไทยและมุสลิมที่มิใช่อาหรับอื่น ๆ ยังมีอีกสามเนื้อหาที่มีความสำคัญต่อการทำธุรกิจกับคนอาหรับซึ่งปรากฏอยู่ในสามบทสุดท้ายของหนังสือนั่นคือ บทที่ 9 ว่าด้วยเคล็ดลับการกระชับมิตร: เพื่อนพ้องและคนแปลกหน้า บทที่ 10 ว่าด้วยพื้นที่ส่วนตัว: เรียนรู้เรื่องที่ต้องระวัง บทที่ 11 ว่าด้วยพิธีกรรมทางสังคมและธรรมเนียมปฏิบัติ ทั้งสามบทที่ว่านี้ อาจารย์ศราวุฒิได้แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจต่อผู้อ่านโดยประสงค์ให้ทุกคนได้เข้าใจตัวตนของชนอาหรับให้มากที่สุด คงเป็นเพราะตระหนักได้ว่าชาวอาหรับประทับใจเสมอหากแขกหรือผู้ติดต่อกับตนเรียนรู้หรือเข้าใจเรื่องราวเชิงวัฒนธรรมทางสังคมของคนอาหรับ ใครก็ตามที่มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจการค้ารวมทั้งด้านอื่นกับคนอาหรับย่อมรู้ว่าในขณะที่คนตะวันตกใส่ใจเรื่อง Know How หรือเทคโนโลยีค่อนข้างมาก คนอาหรับกลับสนใจเรื่อง Know Who หรือเรื่องราวของมนุษย์มากกว่า เพราะมนุษย์นั้นมีเลือดเนื้อ ส่วนเทคโนโลยีนั้นเป็นเพียงMachine มิใช่ Man สิ่งนี้คือส่วนหนึ่งของเคล็ดลับในความสำเร็จหากจะต้องติดต่อกับคนอาหรับ
#ดรวินัยดะห์ลัน, #drwinaidahlan, #ศราวุฒิอารีย์, #คำนิยมหนังสือศราวุฒิอารีย์, #คู่มือพิชิตใจอาหรับ
ภาพจาก https://www.arabnews.com/node/2295461/saudi-arabia