คำนิยมหนังสือ “คู่มือพิชิต (ใจ) อาหรับ” ของอาจารย์ศราวุฒิ อารีย์ ตอนที่ 2

ในแผ่นดินอาหรับยังมีกลุ่มชนที่มิใช่อาหรับอาศัยอยู่จำนวนไม่น้อย ตัวอย่างที่อาจารย์ศราวุฒิยกมาคือชนเคิร์ดในเคอดิชสถานที่นับว่าโดดเด่น ช่วงที่เราทั้งสองเดินทางไปอิรัก มีโอกาสเยี่ยมเยียนเมืองเออร์บิด (Erbid) ซึ่งเป็นเมืองเอกของมณฑลเคอดิชสถานของอิรักที่คล้ายดินแดนปกครองตนเอง ใช้ธงของตนเอง มีภาษาของตนเองคล้ายภาษาฟาซีของอิหร่านโดยเขียนด้วยภาษาอาหรับ มณฑลนี้ดูเจริญกว่าอิรักในภาพรวม การได้ไปเห็นกับตาช่วยให้การอ่านหนังสือของอาจารย์ศราวุฒิมีอรรถรสขึ้นมาก ช่วงท้ายบทที่หนึ่งที่ว่าด้วยเอกภาพและความหลากหลาย เนื้อหาว่าด้วยวิทยาศาสตร์อิสลาม (Islamic Science) อ่านแล้วคล้ายเชิญชวนให้เข้าไปถกเถียงด้วย บางส่วนของเนื้อหากล่าวถึงว่านักวิชาการบางกลุ่มเชื่อว่าวิทยาศาสตร์อิสลามนั้นไม่เคยมีเนื่องจากอิสลามไม่ให้อิสระแก่มุสลิมในการตั้งคำถาม ซึ่งขัดแย้งกับความเห็นของนักวิชาการอีกบางส่วนที่ว่าสังคมมุสลิมถดถอยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเนื่องจากคำสอนระยะหลังหลุดกรอบจากแนวทางการสอนในยุคทองของอิสลามที่กระตุ้นให้ผู้เรียนทำการตะฮฺฆีฆ (Tahqeeq) หรือโต้แย้ง มิใช่ตะฮฺลีล (Tahleel) หรือยอมตาม อิสลามในยุคทองช่วงศตวรรษที่ 8-13 จึงรุ่งเรืองด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อ่านหนังสือของอาจารย์ศราวุฒิจึงสนุก อยากเข้าไปร่วมถกเถียงด้วย ข้อดีของหนังสืออาจารย์ศราวุฒิคือใช้ความคิดเห็นของนักวิชาการกลุ่มอื่นโต้แย้งนักวิชาการกลุ่มเดิม

ตามความเห็นของผม ข้อถกเถียงในส่วนวิทยาศาสตร์อิสลามจึงมีผลกระทบต่อเนื้อหาในบทที่ 2 คือค่านิยมของอาหรับทั้งค่านิยมพื้นฐาน ค่านิยมทางศาสนา ตลอดจนการมองตนเอง อ่านหนังสืออาจารย์ศราวุฒิบทนี้แล้ว เชื่อว่าหากเปิดให้มีการวิพากษ์ หนังสือของอาจารย์ศราวุฒิจะหนาขึ้นอีกมาก ผมเชื่ออย่างนั้น ทั้งนี้โดยให้มุสลิมที่มิใช่อาหรับเป็นผู้วิพากษ์ ซึ่งอาจารย์ศราวุฒิเขียนไว้เองในบทที่ 3 สังคมชนชั้นในโลกอาหรับที่ว่าการยุบเลิกแนวคิดเดิมเพื่อสร้างแนวคิดใหม่ในสังคมอาหรับทำได้ยาก โดยอาจารย์กล่าวถึงเรื่องของชนชั้น เอาเป็นว่าการยุบเลิกชนชั้นกับการเปลี่ยนแปลงแนวคิดนั้นยากพอกัน อ่านบทที่ 3 แล้วจึงคล้ายเป็นคำตอบให้กับผมในฐานะผู้อ่านได้ว่าอดีตความเจ็บช้ำที่เกิดขึ้นกับอาณาจักรอิสลามอับบาสิยะฮฺใน ค.ศ.1258 เหตุใดจึงสร้างความถดถอยให้กับโลกมุสลิมอาหรับได้มากนัก นั่นอาจเป็นเหตุผลให้โลกมุสลิมของชนเติร์กเติบโตขึ้นมาแทนที่จักวรรดิของชนอาหรับภายหลังจากนั้น เติบโตให้ได้เห็นทั้งในจักรวรรดิอุสมานียะฮฺในคาบสมุทรอะนาโตเลีย จักวรรดิติมูรในเอเชียกลาง จักรวรรดิมูฆอลหรือโมกุลในอินเดีย มองในแง่ดีคือชนอาหรับหันมาใส่ใจในธุรกิจการค้ามากขึ้น อันจะเป็นประโยชน์อย่างมากกับผู้อ่านที่สนใจติดต่อกับชนอาหรับเพื่อความสำเร็จทางการค้า จึงแนะนำให้อ่านซ้ำเนื้อหาของบทที่ 3 หลาย ๆ ครั้ง #ดรวินัยดะห์ลัน, #drwinaidahlan, #ศราวุฒิอารีย์, #คู่มือพิชิตใจอาหรับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *