มุสลิมหรือผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามหากเริ่มกันที่ยุคนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ย่อมไม่ใช่ชนกลุ่มแรกที่ถือศีลอด อัลกุรอานยืนยันไว้ด้วยซ้ำในบทอัลบะเกาะเราะฮฺ 2: 183 ว่ามีชนกลุ่มอื่นถือศีลอดมาก่อนหน้ามุสลิมแล้ว สำทับด้วยว่าอัลลอฮฺ ศุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงกำหนดให้ชนเหล่านั้นถือศีลอด อิสลามจึงมีมาก่อนยุคนบีมุฮัมมัด หากวิเคราะห์เจาะลึกลงไปในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ การถือศีลอดอาหารพบได้ในหลายศาสนา ทั้งพุทธ พราห์มณ์ ฮินดู ซิกข์ มีอยู่กลุ่มเดียวที่ไม่พบพิธีกรรมด้านอดอาหารอีกทั้งยังถือว่าการอดอาหารเป็นบาปคือโซโรเอสเตอร์หรือลัทธิบูชาไฟ นอกนั้นมีเรื่องราวของการอดอาหารเพื่อสร้างสมาธิหรือเพื่อการเข้าหาพระผู้เป็นเจ้าเป็นองค์ประกอบในพิธีกรรมทางศาสนาด้วยกันทั้งสิ้น
ในส่วนของอิสลามหากนับย้อนหลังไปจนกระทั่งถึงนบีคนแรกคือนบีอาดำ อะลัยฮิสลาม ครั้งนั้นยังไม่พบบันทึกเรื่องราวการอดอาหาร จนกระทั่งถึงนบีนุฮฺ อะลัยฮิสลาม เมื่อ 5,000 ปีล่วงมาแล้วนั่นแหละจึงมีการกล่าวถึงการถืออดอาหาร นั่นคือวันที่ 10 เดือนมุฮัรรอมซึ่งเชื่อกันว่านบีนุฮฺนำเรือที่หลบภัยจากน้ำท่วมใหญ่ขึ้นไปจอดบนยอดเขาญูดียฺตามที่ระบุไว้ในอัลกุรอาน ฮูด 11:44 โดยปรากฏว่าช่วงศตวรรษที่ 20 มีการค้นพบซากเรือโบราณบนยอดเขานั้นจริง บันทึกของชาวยิวเองมีเรื่องราวการถืออดอาหารในเดือนที่หนึ่งที่ว่านั้นเช่นกัน
ผ่านมากระทั่งเมื่อ 4,000 ปีในยุคสมัยของนบีอิบรอฮีม อะลัยฮิสลาม มีเรื่องราวการถือศีลอดของท่านอีกครั้ง โดยมีหะดิษบันทึกไว้ว่าท่านนบีมุฮัมมัด กล่าวถึงการถือศีลอดของนบีอิบรอฮีมว่าเป็นรูปแบบที่มุสลิมยึดถือกันในภายหลัง วันเวลาผ่านมาจนเมื่อ 3,500 ปีที่ผ่านมา มีเรื่องราวการถืออดอาหาร 40 วันสองช่วงของนบีมูซา อะลัยฮิสลาม ก่อนขึ้นเขาซีนาย โดยก่อนหน้านั้นวันที่ 10 เดือนมุฮัรรอมหรือเดือนนิชาของยิวมีบันทึกถึงการถืออดอาหารของนบีมูซาและชาวยิวก่อนข้ามทะเลแดง บันทึกเรื่องราวการถือศีลอดทั้งหมดนี้เป็นของอิสลามบ้าง คริสต์บ้าง ยิวบ้าง ซึ่งถือเป็นศาสนาที่ต่อเนื่องกัน
มาถึงยุคนบีอีซา อะลัยฮิสลาม ท่านถืออดอาหาร 40 วันในทะเลทรายก่อนเข้าเมืองเพื่อเผยแผ่ศาสนา การถืออดอาหารเช่นนี้ ชาวคริสต์บางส่วนนำมาปฏิบัติในพิธีเข้าสู่ธรรมหรือมหาพรตช่วงอีสเตอร์หรือปัสกา ผ่านมาจนถึงยุคนบีมุฮัมมัดก่อนการเป็นนบี ท่านปฏิบัติตะฮันนุท (Tahannuth) ในเดือนรอมฎอนซึ่งอาจผสมผสานการถือศีลอดกับการปฏิบัติลักษณะเดียวกับการละหมาดและเอียะติกาฟ (اعتكاف Ihtikaf) เข้าไว้ด้วยกัน
มาถึงวันนี้มุสลิมถือศีลอดตลอดเดือนรอมฎอน ตามที่อัลลอฮฺทรงมีคำสั่งไว้ในอัลกุรอาน 2:183 หากปฏิบัติกันตามแนวทางที่ท่านนบีมุฮัมมัดถือปฏิบัติ พบว่าท่านยังถือศีลอดแทบทั้งเดือนในเดือนชะอฺบาน ถือศีลอดทุกวันจันทร์ พฤหัสบดีของเดือนอื่น ๆ ท่านยังแนะนำให้ถือศีลอดสองวันในวันที่ 9 และ 10 เดือนมุฮัรรอม รวมทั้งยังมีวันอื่น ๆ อีก เห็นได้ว่ามุสลิมถือศีลอดทั้งตามหลักศรัทธาและตามประเพณี เป็นการถือศีลอดตามแบบฉบับของท่านนบีมุฮัมมัดด้วยกันทั้งสิ้น
#ดรวินัยดะห์ลัน, #drwinaidahlan, #ถือศีลอดเดือนรอมฎอน, #ถืออดอาหาร