ความเข้าใจใหม่ในเรื่องอาหารและ #อาหารเชิงวัฒนธรรม

อาหารหมายถึงสิ่งที่บริโภคแล้วปลอดภัย ให้ประโยชน์แก่ร่างกาย ช่วยให้เติบโต นี่คือนิยามสั้นๆเน้นด้านวิทยาศาสตร์เป็นหลัก แต่ในข้อเท็จจริงเรื่องของอาหารมีประเด็นทางศาสนา วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แถมด้านศีลธรรมแยกเข้ามาอีก ยุคหลังเกิดปรากฏการณ์เรื่อง #โรคอุบัติใหม่ เข้ามาบ่อยครั้ง ความเข้าใจในเรื่องอาหารจึงต้องปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ อาหารสำหรับคนในวัฒนธรรมหนึ่ง ความเคยชินหนึ่งไม่ได้หมายความว่าจะเป็นอาหารให้กับคนในวัฒนธรรมอื่น จำเป็นต้องใช้เงื่อนเวลา กระบวนการปรับตัวเข้ามาพิจารณา โรคจากโคโรน่าไวรัสที่เกิดการผ่าเหล่าเมื่อส่งผ่านจากสัตว์ชนิดหนึ่งไปยังสัตว์อีกชนิดหนึ่งคือตัวอย่างที่ดี โรคซาร์ โรคเมอรส์ รวมทั้งโควิด-19 เป็นผลมาจากเรื่องผ่าเหล่าที่ว่านี้ทั้งนั้นในทางจุลชีววิทยา กล่าวกันว่ามีแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา มากกว่า 3.5 ล้านชนิดที่เข้าไปอาศัยอยู่ในร่างกายสัตว์ชนิดต่างๆซึ่งมีกว่า 6 หมื่นชนิด เฉลี่ยแล้วสัตว์หนึ่งชนิดมีจุลชีพเหล่านี้ประมาณ 58 สายพันธุ์อาศัยอยู่ พึ่งพาอาศัยกันมานานจนกระทั่งร่างกายสัตว์สร้างภูมิคุ้มกันต่อจุลชีพเหล่านั้นได้กลายเป็น #จุลชีพประจำถิ่น ไปในที่สุด คนในวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ใช้ชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมือนกัน จุลชีพประจำถิ่นจึงไม่เหมือนกันนัก อาหารสำหรับคนในวัฒนธรรมหนึ่งใช่ว่าจะปลอดภัยสำหรับคนในอีกวัฒนธรรมหนึ่ง ในอิสลามจึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ในหลักการ #ฮาลาล หะรอม อิสลามห้ามการบริโภคเนื้อสัตว์ที่กินเนื้อสัตว์ด้วยกัน จะเป็นไปได้หรือไม่ว่าเพื่อป้องกันปัญหาจากจุลชีพที่ไม่คุ้นเคยเหล่านั้น อิสลามห้ามการบริโภคเลือด สัตว์ที่อนุญาต (ฮาลาล) จึงจำเป็นต้องถ่ายเลือดออกให้หมดด้วยการเชือดอย่างถูกต้องท่านศาสดา #นบีมุฮัมมัด ซอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม วางแนวทางเรื่องนี้ไว้ผ่านทางเรื่องเล่าเกี่ยวกับพฤติกรรมของท่านที่เรียกว่า #อัลหะดิษ ครั้งหนึ่งท่านเข้าไปในชุมชนทะเลทราย มุสลิมในชุมชนนั้นนำเอาแย้ทะเลทราย (ฎอบ) มาให้ท่านบริโภค ท่านปฏิเสธเมื่อมีคนถามว่าไม่ฮาลาลหรือ ท่านตอบว่าฮาลาลแต่ท่านไม่เคยรับประทานมาก่อน ในทางจุลชีววิทยาเรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงปรีชาญาณของท่านในการพิจารณาอาหาร หากเห็นว่าไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมการบริโภคของเราก็ควรเลี่ยง ทำได้อย่างนี้โรคซาร์ส โรคเมอรส์ โรคโควิด-19 ย่อมไม่เกิดเพราะความเสี่ยงต่อการกลายพันธุ์ถูกตัดทิ้งไปแล้ว เขียนไว้ยาวเพราะมีคนมาถามผมว่าสัตว์ป่า สัตว์ทะเลทราย ซึ่งคนอาหรับรับประทานกันเป็นปกติ ฮาลาลหรือไม่ คำตอบของผมคงต้องอาศัยหะดิษของท่านศาสดาคือหากนักวิชาการศาสนาอิสลามในพื้นที่ยืนยันว่าฮาลาลก็ต้องฮาลาล ทว่ายังไม่แนะนำให้บริโภค ฮาลาลนั้นเรื่องหนึ่ง #ตอยยิบ คือดี ถูกสุขอนามัย เหมาะสมกับตัวเราเป็นอีกเรื่องหนึ่ง การเลือกอาหารดูฮาลาลอย่างเดียวนั้นไม่พอ ต้องดูตอยยิบด้วย เรื่องของตอยยิบมีประเด็นด้านสุขภาพ การแพทย์ วิทยาศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้องมากมายจำเป็นต้องเรียนรู้และเข้าใจ จะเรียกว่าการเรียนรู้ฮาลาลหรือ Halal Literacy ก็ไม่ผิด เรื่องนี้กำลังจะกลายเป็นวิชาสำคัญในอนาคต

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *