เหตุของความสับสนส่วนหนึ่งมาจากปฏิทินจันทรคติไทย จะเห็นว่าวันที่ 1 หรือขึ้น 1 ค่ำเดือนเจ็ดปีกุนตามปฏิทินจันทรคติไทยตรงกับวันจันทร์ที่ 3 มิถุนายน แต่นั่นเป็นการนับแบบไทยและจีนซึ่งกำหนดให้เริ่มต้นวันเมื่อดวงอาทิตย์ขึ้นในเวลาเช้า ขณะที่การนับแบบอาหรับ วันเริ่มต้นเมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าเวลาเย็น ดังนั้นวันที่ 1 เดือนเชาวัลตามปฏิทินอาหรับจึงเริ่มเวลาค่ำของวันจันทร์ที่ 3 จึงให้เริ่มนับกันที่วันอังคารที่ 4 มิถุนายน อาการเขย่งตรงนี้เองที่สร้างความสับสนให้กับมัสยิดจำนวนหนึ่งที่ยึดการนับวันเวลาตามปฏิทินโดยลืมนึกไปว่าการนับวันตามปฏิทินไทยกับปฏิทินอาหรับนั้นต่างกัน นั่นเป็นประเด็นหนึ่ง
อีกประเด็นหนึ่งเป็นเรื่องการกำหนดวันที่ 1 เดือนเชาวัลตามการสังเกตดวงจันทร์ ซึ่งทางการประเทศซาอุดีอาระเบียกำหนดวันที่ 1 เชาวัลเป็นวันอังคาร ขณะที่สำนักจุฬาราชมนตรีประกาศเป็นวันพุธ กรณีนี้สร้างความขัดแย้งในบ้านเราอยู่บ่อย มัสยิดที่ยึดตามสำนักจุฬาราชมนตรียึดตามผู้นำมุสลิมในสังคมไทยต้องตรงกับข้อกำหนดในบทบัญญัติอัลกุรอานและหะดิษที่ให้ตามผู้นำ ทั้งเป็นไปตามกฎหมายไทยที่ให้อำนาจการประกาศผลการดูดวงจันทร์ตามพรบ.2540 เป็นของจุฬาราชมนตรีเท่านั้น ขณะที่มัสยิดที่ถือเอาวันที่ตามประกาศของทางการซาอุดีอาระเบียมองประเด็นความเป็นสากลโดยมองข้ามประเด็นตามข้อกฎหมายไทย กรณีเช่นนี้ ควรพิจารณากันเป็นรายมัสยิด แม้มัสยิดส่วนใหญ่ในประเทศไทยจะขึ้นทะเบียนตาม พรบ.2540 แต่มัสยิดบางส่วนมิได้ขึ้นทะเบียนตาม พรบ.2540 มัสยิดที่มิได้ปฏิบัติตามประกาศสำนักจุฬาราชมนตรีจึงมีสองกลุ่ม จำเป็นต้องพิจารณาแยกจากกัน ส่วนการสร้างความเข้าใจจำเป็นต้องทำกับทั้งสองกลุ่มเพื่อสร้างเอกภาพให้กับมุสลิมไทย
อันที่จริงการกำหนดวันเวลานั้นเป็นเรื่องสมมุติ วันเวลาที่ใช้กันทุกวันนี้กำหนดตามมาตรฐานของโลกตะวันตกซึ่งกำหนดเส้นแบ่งวันอยู่กลางมหาสมุทรแปซิฟิก การกำหนดเช่นนี้ส่งผลให้เวลาในประเทศไทยเร็วกว่าซาอุดีอาระเบีย 4 ชั่วโมง หากลองกำหนดกันใหม่โดยยึดเอาเมืองมักกะฮฺเป็นเส้นแบ่งวัน ผลคือวันเวลาของประเทศไทยจะช้ากว่าซาอุดีอาระเบีย 20 ชั่วโมง การกล่าวว่าละหมาดก่อนซาอุหรือหลังซาอุกระทั่งกลายเป็นความขัดแย้งอย่างที่กล่าวถึงนั้นจึงเกิดขึ้นจากมาตรฐานที่ฝรั่งเขากำหนดไว้แท้ๆ