เมื่อ ค.ศ.2013 โธมัส ซัดเดนดอร์ฟ (Thomas Suddendorf) แห่งมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ออสเตรเลีย เขียนหนังสือชื่อ The Gap – The Science of What Separates Us from Other Animals” โดยตั้งทฤษฎีว่าสิ่งที่ทำให้มนุษย์ฉลาดหลักแหลมเหนือสัตว์อื่นก็ด้วยเหตุผลสองประการคือความกระตือรือร้นที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลของตนกับผู้อื่นและความพยายามที่จะเก็บข้อมูลจากผู้อื่นให้เป็นประโยชน์ของตนเองและกลุ่ม ซึ่งเป็นผลให้เกิดการสร้าง “สำนึกร่วม” (collective consciousness) หรือสำนึกสะสมของผู้คนในสังคมก่อให้เกิดวัฒนธรรมการเสาะแสวงหาความรู้ พัฒนากระทั่งเกิดอารยธรรมขึ้น ทฤษฎีนี้นำมาใช้อธิบายพัฒนาการของคนอาหรับได้ดีว่าชาวทะเลทรายอาระเบียหลังยุคนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ต่อยอดอารยธรรมของอิยิปต์ เมโสโปเตเมีย เปอร์เซีย โรมันและชนกลุ่มอื่นกระทั่งสร้างอารยธรรมของตนขึ้นอย่างโดดเด่นได้อย่างไร ชนกลุ่มนี้สร้างสิ่งที่เรียกว่าสำนึกร่วมไว้มากมายเกินกว่าจะคาดคิด
คนเรียนดาราศาสตร์และคณิตศาสตร์ต่างรู้จักนิโคลัส คูเปอร์นิคัส แต่อาจไม่รู้จักอัลบัตตานี มุสลิมอาหรับ (البتاني Al Battani) และอัลควาริซมี มุสลิมเปอร์เซีย (الخوارزمی Al Kwharizmi) ที่ต่างเกิดก่อนคูเปอร์นิคัสหกร้อยปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนหลังเป็นผู้ให้กำเนิดวิชาอัลจีบรา (Algebra) และคณิตศาสตร์ (Arithmatic) วงการแพทย์ยุคใหม่อาจรู้จักบิดาทางการแพทย์อย่างวิลเลียม ฮาร์วีย์ (William Harvey) ได้เห็นระบบไหลเวียนโลหิตระหว่างปอดกับหัวใจที่ฮาร์วีย์เขียนไว้ในศตวรรษที่ 17 โดยอาจไม่เคยเห็นระบบเดียวกันที่นำเสนอโดยอิบนุ อัลนาฟิซ (ابن النفيس Ibn Al Nafis) ซึ่งเขียนไว้ในศตวรรษที่ 13 ที่แทบเป็นภาพเดียวกัน ยังมีตำราทางการแพทย์อีกมากมายที่เขียนขึ้นโดยอิบนุ ซินา (ابن سینا Ibn Sina) มุสลิมเปอร์เซียในศตวรรษที่ 11 ที่ถูกถ่ายทอดเป็นตำราให้ได้เรียนกันทั่วยุโรปหลังจากนั้น
ตอนปลายศตวรรษที่ 17 คนทั้งโลกต่างทึ่งกับทฤษฎีทางฟิสิกส์เรื่องแรงโน้มถ่วงของเซอร์ไอแซค นิวตัน (Sir Isaac Newton) ที่ตอบคำถามว่าเหตุใดแอ็ปเปิลที่หลุดจากต้นจึงตกลงบนพื้นโลก คนเหล่านั้นอาจที่งมากขึ้นหากได้รับรู้ว่าก่อนหน้านั้นในศตวรรษที่ 10 นักวิทยาศาสตร์มุสลิมอย่างอัลฟัรฆานี (أبو العباس أحمد بن كثير الفرغاني Al Farghani) นำเสนอทฤษฎีว่าวัตถุขนาดใหญ่มหาศาลย่อมสร้างแรงดึงดูดต่อวัตถุที่เล็กกว่า ดังนั้นหากแอ็ปเปิลของเซอร์ไอแซค นิวตัน ใหญ่กว่าโลกมาก อาจเป็นโลกเองที่ตกลงบนแอ็ปเปิล
ยังมีความรู้อีกมากมายที่โลกอิสลามพัฒนาขึ้นและถ่ายทอดให้ชาวยุโรปได้เรียนรู้ น่าเสียดายที่ชาวยุโรปต่างละเลยที่จะอ้างอิงถึง สิ่งนี้กษัตริย์ชาร์ลที่สามเมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นมกุฎราชกุมารแห่งสหราชอาณาจักรเคยมีปาฐกถาไว้ที่มหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ดในเดือนตุลาคม ค.ศ.1993 ว่า “สิ่งหนึ่งที่ชาวตะวันตกทำผิดอย่างมากต่อโลกอิสลาม สิ่งนั้นคือการเพิกเฉยไม่ยอมรับว่าอารยธรรมของโลกตะวันตกทุกวันนี้เป็นหนี้ต่อโลกอิสลามอย่างมากมาย นี่คือความล้มเหลวทางประวัติศาสตร์ที่ครอบคลุมพวกเราชาวตะวันตกอยู่ในทุกวันนี้”
#drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #วิทยาศาสตร์อิสลาม,