ยุโรปเคยรุ่งเรืองอย่างยิ่งเมื่อสองสามทศวรรษมาแล้ว ทว่าเวลานี้กลับถดถอยกับสงครามยืดเยื้อภายในทวีป อย่างไรก็ตามยุโรปในอดีตเคยถดถอยหนักหนาสาหัสกว่าวันนี้ โดยช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 5-15 ยุโรปเคยจมปลักอยู่กับยุคอับจนทางปัญญากระทั่งถูกเรียกขานว่ายุคมืด (Dark age) ก่อนฟื้นคืนกลับมากระทั่งสร้างจักรวรรดิที่สามารถนำเอาแทบทั้งโลกต้องสยบอยู่ภายใต้อาณัติในรูปอาณานิคม โดยโลกเพิ่งผ่านพ้นสภาวะนั้นมาได้เมื่อไม่ถึงร้อยปีมานี้เอง อะไรที่ทำให้ยุโรปที่เคยรุ่งเรืองมานับแต่ยุคจักรวรรดิโรมันต้องตกต่ำลงถึงยุคมืดนานเกือบพันปีเป็นเรื่องที่น่าศึกษา
มีนักปรัชญายุโรปอย่างน้อยสองคนอธิบายเหตุผลของความตกต่ำที่ว่านั้น คนแรกคือโวลแทร์ (M de Voltaire 1694-1778) คนหลังคือรุสโซ่ (Jean-Jacques Rousseau 1712-1778) โดยโวลแทร์เห็นว่ายุโรปตกต่ำเนื่องมาจากสภาวะมืดบอดทางปัญญาที่เกิดจากการครอบงำของฝ่ายศาสนาที่ก้าวขึ้นมาแทนจักรวรรดิโรมันโดยฝ่ายศาสนาไม่ได้ทำตนเป็นทางนำแก่สังคมทว่ากลับสร้างอาณาจักรแห่งความหวาดกลัว ครอบงำประชาชนให้อยู่กับความงมงาย จมปลักอยู่กับอดีตที่เคยรุ่งเรืองในยุคโรมัน กระทั่งถึงศตวรรษที่ 14-15 ยุโรปจึงเข้าสู่บรรยากาศของการฟื้นฟูอารยธรรมกรีก-โรมันเกิดเป็นยุคที่เรียกกันว่า “เรเนสซองค์” (Renaissance) หรือการกำเนิดใหม่
ขณะที่รุสโซปลุกชาวยุโรปให้เร่งพัฒนาศาสตร์นำไปสู่การกำเนิดยุคเรืองรองทางปัญญา (Enlightenment) อย่างไรก็ตาม มีอยู่สิ่งหนึ่งที่ทั้งโวลแทร์และรุสโซ่รวมทั้งนักปรัชญาและนักประวัติศาสตร์ชาวยุโรปลืมกล่าวถึงนั่นคือในระหว่างยุคมืดนั้น ความรุ่งเรืองของโลกอิสลามเวลานั้นมีบทบาทอย่างสำคัญในการปลุกทวีปยุโรปให้ตื่นขึ้น ซึ่งเรื่องนี้กษัตริย์ชาร์ลแห่งสหราชอาณาจักรเมื่อครั้งทรงดำรงตำแหน่งเจ้าชายแห่งเวลส์ มกุฏราชกุมารแห่งสหราชอาณาจักรทรงมีพระดำรัส ณ มหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด วันที่ 27 ตุลาคม 1993 ใจความว่า “สิ่งหนึ่งที่ชาวตะวันตกทำผิดอย่างมากต่อโลกอิสลามคือการเพิกเฉยไม่ยอมรับว่าอารยธรรมของโลกตะวันตกทุกวันนี้เป็นหนี้ต่อโลกอิสลามอย่างมากมาย นี่คือความล้มเหลวทางประวัติศาสตร์ที่ครอบคลุมชาวตะวันตกอยู่จนทุกวันนี้”
ยุโรปก้าวพ้นยุคมืดบอดทางปัญญาหลังจากสัมผัสความรุ่งเรืองของโลกอิสลามผ่านสงครามยาวนานระหว่างชาวยุโรปกับมุสลิมในมหาสงครามที่เรียกว่า “ครูเสด” (Crusade wars) การได้สัมผัสโลกอิสลามที่รุ่งเรือง การกล้าวิพากษ์สังคมตนเองกระทั่งยอมรับการถ่ายทอดศิลปะวิทยาการ การแปลตำรับตำราภาษาอาหรับสู่ภาษาต่าง ๆ ในยุโรปตลอดช่วงเวลาหลายศตวรรษ ช่วยพลิกฟื้นให้ยุโรปตื่นจากยุคมืดเข้าสู่ยุคเรเนสซองค์ก่อนก้าวเข้าสู่ยุคเรืองรองทางปัญญาในที่สุด เสียดายที่ชนยุโรปกลับลืมเลือน น่าเสียดายกว่านั้นคือสังคมมุสลิมยังขาดการวิพากษ์ตนเองทำให้สังคมมุสลิมที่เคยรุ่งเรืองทางศิลปวิทยาการต้องถดถอยลงหลังจากนั้น หากต้องการกลับไปเป็นสังคมผู้ให้เช่นในอดีต มุสลิมต้องรื้อฟื้นวัฒนธรรม “ตะฆีฆ” (تحقيق, tahqiq) กล้าวิพากษ์เพื่อพัฒนาตนเองอีกครั้ง
#ดรวินัยดะห์ลัน, #drwinaidahlan, #ยุคทองของอิสลาม, #ตะฆีฆ