กาแฟ (Coffee) ในโลกวันนี้คือเครื่องดื่มที่นิยมกันมากที่สุดในโลก ร้านกาแฟที่เปิดตัวเป็นดอกเห็ดกลายเป็นสถานที่เช็คอินของคนรุ่นใหม่เป็นที่เรียบร้อย ผู้คนอาจเข้าใจว่ากาแฟเป็นวัฒนธรรมอเมริกันจากกระแส Americanization ทว่าในข้อเท็จจริง วัฒนธรรมกาแฟเริ่มโดยชนอาหรับกับกระแส Arabization โดยมีจุดเริ่มต้นมาจาก “สภากาแฟ” ในแผ่นดินอาระเบียในคริสตศตวรรษที่ 13 เรื่องนี้มีความเป็นมาอย่างไร ลองไปติดตามดูกันคำว่าสภากาแฟในภาษาไทย ปรากฏเป็นทางการครั้งแรกในพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันจันทร์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2538 ณ ศาลาดุสิตดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต โดยทรงตรัสถึง “ราชกรัณยสภา” ในเขตพระบรมมหาราชวัง ว่าถูกใช้เป็นสภากาแฟเพื่อถกงานพัฒนาบ้านเมือง จากบันทึกของชมรมคนรักประวัติศาสตร์ไทยระบุไว้ในเฟซบุ๊กวันที่ 15 มกราคม พ.ศ.2558 ว่าสถานที่นี้เป็นสภากาแฟมาตั้งแต่รัชสมัยรัชกาลที่ 5 คำว่าสภากาแฟในภาษาไทยจึงไม่ใช่คำใหม่ย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ สภากาแฟเริ่มต้นกันในแผ่นดินยะมันหรือประเทศเยเมนปัจจุบัน ชนอาหรับในพื้นที่นี้รู้จักการดื่มกาแฟมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 โดยพ่อค้าเยเมนนำเมล็ดกาแฟจากอบิสซีเนียหรือเอธิโอเปียมาเผยแพร่ ใช้ดื่มระหว่างพูดคุยกันในสถานที่ที่เรียกว่า “มัจลิซ” (مجلس Majlis) ซึ่งในภาษาอังกฤษคือ Council หรือสภาในภาษาไทย ส่วนในภาษาอาหรับหมายถึงสถานที่ชุมนุมทางวิชาการ คนอาหรับยุคนั้นใช้มัจลิซพูดคุยกันจนดึกดื่นเพื่อละหมาดตะฮัดยุดหรือละหมาดยามดึกร่วมกัน ละหมาดแล้ว บางครั้งรวมตัวกันเดินทางไปแสวงบุญ ณ นครมักกะฮฺที่อยู่ทางเหนือ กาแฟช่วยกระตุ้นประสาทให้ตื่นตัวยามดึกจึงกลายเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมนับแต่นั้น กาแฟในภาษาอาหรับคือ “ฆาวา” (قهوة Qawah) การรวมกลุ่มกันดื่มกาแฟเพื่อถกกันเรื่องศาสนาในมัจลิซจึงนับเป็นคลื่นวัฒนธรรมกาแฟลูกแรกที่ถือกำเนิดขึ้นในเยเมนตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 13 ในมัจลิซ มีผู้ปรุงกาแฟบริการคนอื่นเรียกในภาษาอาหรับว่าฆาฮาวาตี (القهاواتي Qahawati) หรือบาริสต้าที่ใช้เรียกกันในวันนี้ ส่วนคลื่นวัฒนธรรมกาแฟลูกที่สองเกิดในอิสตันบุล นครหลวงของจักรวรรดิอุสมานียะฮฺหรือออตโตมันในตุรกีในศตวรรษที่ 17 ร้านกาแฟ (Coffeehouse) ร้านแรกเปิดขึ้นที่นครแห่งนี้ เพื่อใช้เป็นสถานที่พบปะพูดคุยทางธุรกิจและวิชาการ ความที่ถือกำเนิดในโลกมุสลิม ชนยุโรปยุคเดียวกันที่นิยมดื่มชากันมาก่อนตั้งข้อรังเกียจว่ากาแฟเป็นวัฒนธรรมของชนอาหรับและเติร์ก ทว่าตั้งแง่ได้ไม่นาน ร้านกาแฟร้านแรกก็เปิดขึ้นในลอนดอนตั้งชื่อว่า “The Great Turk Coffeehouse” กลางศตวรรษที่ 17 นั่นเอง คลื่นวัฒนธรรมกาแฟลูกที่ 3 เกิดในนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกาประมาณทศวรรษที่ 1960 เมื่อมีการเรียกร้องให้คนอเมริกันดื่มกาแฟมากขึ้นตามแบบคนยุโรป 20 ปีหลังจากนั้นจึงเริ่มตำนานร้านกาแฟอเมริกันอันดับหนึ่งคือ Starbucks เกิดเป็นกระแสสร้างคลื่นวัฒธรรมลูกที่สามที่ทำให้การดื่มกาแฟกลายเป็นความคลั่งไคล้กันในโลกจนทุกวันนี้ #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #คลื่นวัฒนธรรมกาแฟ, #มัจลิซ