ข้อดีของปฏิทินอาหรับกับการกำหนดเดือนรอมฎอน

วันอังคารที่ 13 เมษายน ปีนี้ คาดว่าจะเป็นวันที่ 1 เดือนรอมฎอน ฮ.ศ.1442 มุสลิมเริ่มถือศีลอด ตลอด 30 วันของเดือน ก่อนจะไปว่ากันด้วยเรื่องรอมฎอนเดือนแห่งการถือศีลอดในอิสลาม ไปดูเรื่องการกำหนดวันเวลากันก่อน “วัน” ไม่ว่าจะจันทร์ อังคาร หรือเดือนไม่ว่าจะมีนาคม เมษายน ล้วนเป็นสิ่งสมมุติที่พัฒนาขึ้นมาเนิ่นนานเป็นพันปีกระทั่งกลายเป็นมาตรฐานที่ทุกคนในโลกเข้าใจตรงกัน แต่วันเวลาใช่ว่าทุกคนจะเข้าถึงได้ไม่จำกัด จับพลัดจับผลูบางคนอาจอยู่ในสถานที่ที่ยืนยันวันเวลาไม่ได้ จำเป็นต้องมีวิธีธรรมชาติเพื่อกำหนดวันเวลากันบ้าง เริ่มด้วยการกำหนดค่าคงที่ให้ได้ก่อน เป็นค่าคงที่ที่เปลี่ยนแปลงน้อยที่สุด จะใช้ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ หรือดวงดาวก็ได้ ค่าคงที่ควรมีช่วงเวลาสั้น อย่างเช่น เวลาขึ้นของดวงอาทิตย์ทุก 24 ชั่วโมง เวลาขึ้น 1 ค่ำของดวงจันทร์ทุก 29-30 วัน การกำหนดให้ค่าคงที่หยุดนิ่งเช่นนี้มีแม้ในอวกาศที่ทุกเทหวัตถุเคลื่อนที่ตลอดเวลา การกำหนดค่ามาตรฐานที่หยุดนิ่งเช่นนี้เรียกว่า LSR หรือค่ามาตรฐานหยุดนิ่งท้องถิ่น หรือ Local Standard of Rest ในคัมภีร์อัลกุรอานที่มีอายุ 1,400 ปี มีถ้อยคำที่อาจตีความได้ถึง LSR ในอวกาศ โดยบทที่ 36 ยาซีน วรรคที่ 38 กล่าวว่า “และดวงอาทิตย์วิ่งไปยังจุดที่กำหนด (ซึ่งหยุดนิ่ง)” โดยใช้คำว่า “ลิมุซตะฆอรริน” (لِمُسۡتَقَرٍّ) ที่หมายถึงค่าที่กำหนดไว้ เรื่องดาราศาสตร์กับอิสลามเห็นทีต้องยกยอดไปคุยกันวันหลัง วันนี้คุยกันเรื่องการดูจันทร์เสี้ยว (crescent) เพื่อกำหนดคืนขึ้น 1 ค่ำกันก่อน มีคำถามอยู่บ่อยว่าเหตุใดโลกก้าวหน้ามาจนถึงขั้นนี้ สามารถกำหนดเวลาเป็นมิลลิวินาทีหรือต่ำกว่านั้นได้ด้วยซ้ำ แต่มุสลิมยังสังเกตจันทร์เสี้ยวขึ้น 1 ค่ำเพื่อกำหนดการเปลี่ยนเดือนกันอยู่ เป็นวิธีการที่น่าจะเลิกใช้กันตั้งแต่หลายศตวรรษที่แล้วมุสลิมที่มีประชากรอยู่กว่าสองพันล้านคนหรือร้อยละ 23 ของประชากรโลก พบในกว่า 180 ประเทศ ส่วนใหญ่กำหนดวันและเดือนผ่านการคำนวณด้วยเทคโนโลยีที่ทุกฝ่ายใช้กันทั้งนั้น ทว่ายังคงให้ความสำคัญกับการดูจันทร์เสี้ยวเพื่อใช้เป็นทางเลือกอยู่ มีบางประเทศกำหนดให้เป็นทางบังคับเสียด้วยซ้ำ ซึ่งช่วยให้สังคมไม่พลาดเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ปลายยุคกลางช่วงศตวรรษที่ 13-15 เด็กมุสลิมในโรงเรียนที่เรียกว่ามักตับของเอเชียกลางใช้ทั้งวิธีคำนวณและการดูจันทร์เสี้ยวเพื่อกำหนดเดือน อิสลามให้ความสำคัญกับการฝึกฝน และการกำหนดทางเลือก การกำหนดความสว่างของดวงจันทร์ขึ้น 1 ค่ำนับเป็น LSR ที่ดีที่สุด ไม่มีค่ำไหนที่ดีกว่านี้หลายชาติรวมทั้งไทยกำหนดเดือนจากการดูดวงจันทร์ หนึ่งปีหรือ 12 เดือนทางจันทรคติมีวันประมาณ 354 วัน น้อยกว่าวันทางสุริยคติ 11-12 วัน ทุกสามปีจึงเลื่อนเดือนออกไปหนึ่งเดือนสักครั้งหนึ่งซึ่งภาษาอาหรับเรียกว่า “อัลนะซีอฺ” ปีทางจันทรคติจึงสอดคล้องกับสุริยคติ ทว่าในอิสลาม ค.ศ.632 มีคำสั่งปรากฏในคัมภีร์อัลกุรอานบทที่ 9 อัตเตาบะฮฺ วรรคที่ 37 ให้งดการเลื่อนเดือน นับแต่นั้นมาจนปัจจุบัน ปีตามปฏิทินอาหรับมีวันน้อยกว่าปฏิทินสากล 11-12 วัน 33 ปีอาหรับยาวเท่ากับ 32 ปีสากล เป็นผลให้พิธีกรรมที่กำหนดตามปฏิทินอาหรับ เช่น การถือศีลอดเดือนรอมฎอน หรือพิธีฮัจญฺเดือนซุลฮิจญะฮฺเลื่อนเร็วขึ้น 11-12 วันทุกปี การงดประเพณีอัลนะซีอฺจึงเป็นผลให้คนที่อายุเกิน 40 ปีมีโอกาสถือศีลอดทั้งมีโอกาสทำฮัจญฺในทุกช่วงเวลาของปี หนาวบ้าง ร้อนบ้างไม่จำเจ เหล่านี้ย่อมนับเป็นข้อดีมิใช่หรือ อีกเรื่องหนึ่งที่อยากจะเสริม ในอดีต มักตับ (โรงเรียน) สอนเด็กคำนวณการกำหนดฮิลาล (จันทร์เสี้ยว) ขึ้น 1 ค่ำ ถึงวันจริงจึงให้เด็กตรวจสอบความถูกต้อง การสอนเช่นนี้ทำให้เด็กมุสลิมเชี่ยวชาญด้านทฤษฎีและปฏิบัติซึ่งเป็นไปตามหะดิษ คำนวณอย่างเดียวไม่ได้ต้องฝึกปฏิบัติ ไม่ละทิ้งด้านใดด้านหนึ่ง นี่คือเหตุผลอธิบายว่าเหตุใดอิสลามในอดีตจึงก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #รอมฎอน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *