พวกเราที่มีอายุสักหน่อยคงจำภาพ Abbey road ในกรุงลอนดอนได้ ถนนสายนี้ก่อนหน้า ค.ศ.1969 ไม่มีชื่อเสียงสักเท่าไหร่ เป็นถนนเล็กๆอยู่ในแถบ St John’s wood กรุงลอนดอน อังกฤษ มาถึงวันนี้กลายเป็นจุดท่องเที่ยวของลอนดอนไปแล้ว ถนนสายนี้มีชื่อเสียงก้องโลกนานหลายทศวรรษเป็นเพราะสี่หนุ่มวงดนตรีแห่งทศวรรษ 1960-1980 คือ The Beatles ไปเดินข้ามถนนเพื่อถ่ายรูปทำอัลบั้มใหม่กันบนถนนสายนี้ในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1969 ผ่านมาถึง ค.ศ.2023 ครบ 54 ปีพอดิบพอดี ช่วงที่ภาพนี้ถูกนำเสนอออกมาครั้งแรก ผมเรียนอยู่ชั้นมัธยมต้น เป็นแฟนดนตรีวงนี้เหมือนกัน จึงจดจำเรื่องราวเบื้องหลังเรื่องนี้ได้การโปรโมตแผ่นเสียงหรือวงดนตรียุคเก่า ไม่ต่างจากยุคอินเตอร์เน็ตเฟื่องฟูในวันนี้สักเท่าไหร่ เรื่องราวเบื้องหลังการถ่ายภาพ Abbey road เวลานั้นมีการสร้างข่าวลือควบคู่ไปกับการประชาสัมพันธ์ปกติที่ฝ่ายธุรกิจนำเสนอออกมา จะจงใจปล่อยข่าวลือหรืออย่างไรไม่ทราบได้ ข่าวลือถูกปล่อยให้คลุมเครืออยู่อย่างนั้น ไม่มีการแก้ข่าวใดๆทั้งสิ้น บรรดาสื่อยุคนั้นต่างช่วยกันนำข่าวลือออกมากระพือโหม กระทั่งกลายเป็นไวรัลแพร่ไปทั่วโลก แผ่นเสียงของวง The Beatles ทั้งแผ่นนั้นและแผ่นอื่นๆขายดิบขายดียิ่งกว่าเทน้ำเทท่าข่าวลือครั้งนั้นมีว่าพอล แม็คคาร์ทนีย์ มือเบสและนักร้องนำของวงเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถยนต์ ทำนองว่าวันหนึ่งใน ค.ศ.1969 พอลจอดรถรับสาวที่โบกรถ สาวเมื่อเห็นว่าคนขับคือพอลนักร้องคนโปรดจึงพยายามเข้าไปกอด เป็นผลให้รถเสียหลักพลิกคว่ำทำให้พอลเสียชีวิต เหตุการณ์อุบัติเหตุที่ว่านั้นถูกเขียนเป็นส่วนหนึ่งของเพลง A day in a life ของจอห์น เลนน่อน ท่อนที่ว่า He blew his mind in a car เล่ากันเป็นตุเป็นตะในยุคนั้นภาพสี่หนุ่มเดินข้ามถนน มีคนเอาไปลือกันว่าหมายถึงงานศพพอล แม็คคาร์ทนีย์ โดยมีจอห์น เลนน่อน สวมชุดขาวเดินนำหน้า ให้ผู้คนตีความกันว่าหมายถึงพระเดินนำหน้าศพ เดินคนที่สองคือริงโก้ สตาร์ สวมสูทเต็มยศ แสดงตนเป็นเพื่อนผู้ตาย เดินคนที่สามคือคนหน้า้หมือนหรือตัวปลอมของ พอล แม็คคาร์ทนีย์ ใส่สูทโดยไม่สวมรองเท้าตีความกันไปว่าคือคนตาย เดินตามหลังเป็นคนสุดท้ายคือจอร์จ แฮริสัน ใส่เสื้อกางเกงยีนเก่าๆหมายถึงสัปเหร่อ ในภาพยังมีรถโหล์คสีขาวจอดอยู่ ป้ายทะเบียน 28IF ตีความได้ว่าถ้า (IF) ไม่เสียชีวิต พอลจะอายุ 28 ปีในปีนั้น นอกจากนี้ ข่าวลือยังถูกนำไปใช้ตีความอัลบั้มอื่นที่ออกมาตามหลัง เช่น Sergeant’s Lonely Heart Club Band ที่ลือกันว่าถ่ายภาพกันหน้าหลุมศพผ่านไปสองสามปีหลังจากนั้น พอลก็ยังมีชีวิตอยู่ดี แผ่นเสียงขายดิบขายดีจากงานศพทิพย์ที่ไม่ใช่เรื่องจริง ไม่มีใครออกมาขอโทษ ไม่มีใครติดใจ ไม่มีใครออกมาโวยวายหรือฟ้องร้อง คนที่เสียรู้ เสียน้ำตากับงานศพทิพย์คือประชาชนทั่วไปที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ เสียเงินเสียทองกันไปแยะกับงานศพทิพย์ที่ว่านี้ วันเวลาผ่านไปครึ่งศตวรรษ เรื่องโกหกพกลมเช่นนี้ไม่เคยหายไปไหน ยังคงดำรงอยู่อย่างมั่นคงทั้งยิ่งก้าวหน้ากว่าในอดีต มีทั้งเอไอ ไอโอเข้ามาช่วยกระพือสร้างความเชื่อ ไม่เฉพาะวงการดนตรี ทว่าแพร่ไปในทุกเรื่อง ตั้งแต่วงการบันเทิง วงการธุรกิจ วงการทหารไปจนกระทั่งถึงวงการการเมือง ผู้คนออกจะชาชิน โดยคนจำนวนมากคงไม่อยากตอแย ไม่อยากแกว่งเท้าหาเสี้ยนทำนองนั้น อย่างไรก็ตาม บางข่าวลือออกจะเกินเลยจนทำให้หลายสังคมล่มสลาย หากเป็นอย่างนั้น ฝากฝ่ายความมั่นคงช่วยตอแยหน่อย อย่าปล่อยผ่านกระทั่งประเทศชาติเสียหาย อย่าปล่อยกันถึงขนาดนั้นเลย #ดรวินัยดะห์ลัน, #drwinaidahlan, #abbeyroad, #beatles, #ข่าวลือย้อนยุค