กินให้ช้ากินให้น้อย

แต่ก่อนเชื่อกันว่าเป็นเพราะกินมากจึงทำให้อ้วน ภายหลังรู้ว่ากินมากอาจไม่ใช่ปัญหา แต่กินอะไรต่างหาก หากเป็นสลัดซึ่งพลังงานต่ำถึงกินมากก็ไม่สร้างปัญหา ประเด็นการกินจึงต้องเข้าใจต่อด้วยว่ากินอะไร มาถึงวันนี้เมื่อความรู้มีมากขึ้น “กินอะไร” ยังเป็นประเด็นน้อยกว่า “กินอย่างไร” แม้กินน้อยทว่ากินเร็วอาจสร้างปัญหามากกว่ากินมากแต่กินช้าก็ได้ ใครไม่อยากเป็นโรคอ้วน จึงต้องระวังอย่ากินเร็วและกินจนอิ่มแปล้ ซึ่งเป็นสองวิธีที่สร้างปัญหาให้เกิดโรคอ้วน จึงต้องระวังวิธีกินให้มากสักหน่อย

เมื่อไม่ให้กินเร็ว จึงควรกินช้าและกินให้น้อยโดยมีคำแนะนำวิธีการกินช้าไว้ดังนี้ ประการแรกคือหาเพื่อนกิน หรือไปกินกับเพื่อน โดยต้องเลือกเพื่อนประเภทที่กินช้า ละเลียดกิน หากเลือกเพื่อนที่กินเร็วอาจมีปัญหามากขึ้น คนกินเร็วเมื่อกินกับเพื่อนที่กินช้า มีแนวโน้มว่าคนกินเร็วจะเริ่มกินช้าตามแนวทางของเพื่อน ไม่มีคำอธิบายว่าเหตุใดจึงเป็นอย่างนั้น เป็นเพราะอะไรที่ไม่ทำให้คนกินช้ากลายเป็นคนกินเร็ว

ประการที่สองเลือกเมนูเล็กๆหน่อย อย่าเลือกอาหารให้มันมากมายหลายชนิดนัก ไม่ใช่วางกับข้าวกันจนเต็มโต๊ะทำให้ต้องเลือกกินหลายอย่าง หากทำอย่างนั้นรับรองได้ว่าไม่มีทางผอมแน่นอน ประการที่สามให้นั่งกินหรือนั่งกินกับโต๊ะอาหารหรืออยู่กับที่ จะนั่งพื้นแบบไทยหรือแบบมุสลิมก็ไม่ว่ากัน แต่อย่าเดินไปกินไป การกินกับพื้นหรือกับโต๊ะจะทำให้ใส่ใจกับการกิน สามารถควบคุมความเร็วของการกินได้ หากเดินกิน จะควบคุมความเร็วในการกินลำบากทำให้กลายเป็นคนกินเร็ว

ประการที่สี่คือเคี้ยวช้าๆ ไม่จำเป็นต้องนับว่าเคี้ยวกี่ครั้งแบบเอ็ดเวอเดี้ยนที่ต้องเคี้ยว 32 ครั้ง แต่ใช้เวลาเคี้ยวให้นานสักหน่อย ให้อาหารอยู่ในปากนานๆ ค่อยๆเคี้ยวไปเรื่อยๆ ประการที่ห้าคือวางช้อนกับส้อมไว้บนจานในช่วงเวลาของการเคี้ยวแต่ละครั้ง อย่าถือช้อนหนือส้อมไว้ตลอดเวลา เมื่อจะตักอาหารคำใหม่จึงหยิบช้อนกับส้อมขึ้นอีกครั้ง ทำอย่างนี้จะช่วยให้กินช้าลง ประการที่หกคือเลือกอาหารที่เป็นของแข็งจะดีกว่าอาหารเหลว เพราะอาหารที่แข็งจำเป็นต้องเคี้ยว ส่วนอาหารเหลวใส่ปากแล้วสามารถกลืนลงคอได้เลย ทำให้ร่างกายได้รับอาหารเร็วเกินไป

ประการที่เจ็ดเป็นประการสุดท้ายคือจิบน้ำบ่อยๆระหว่างการกินแต่ละคำ จะทำให้อิ่มเร็ว เจ็ดวิธีถือว่ามากพอแล้ว เพียงแค่คอยจำว่ามีกี่วิธี ต้องทำอะไรบ้าง เพียงเท่านี้ก็ทำให้กินช้าลงได้แล้ว