คนไทยส่วนใหญ่คงรู้ว่าอาหารขยะคืออะไร สรุปง่าย ๆ อาหารขยะคืออาหารพลังงานสูง ไขมันสูง โปรตีนสูง ใยอาหารต่ำ กินง่าย มีสารพลังงานย่อยง่ายสูง ดูดซึมเร็ว ร่างกายใช้พลังงานไม่ทันจึงสะสมในรูปไขมันได้เร็ว อาหารขยะที่พบมากคืออาหารจากภัตตาคารฟาสต์ฟู้ดแบบอเมริกันนั่นแหละ คนอ้วนที่มีมากขึ้นในสังคมจำนวนไม่น้อยเป็นผลมาจากอาหารขยะประเภทนี้ ทีมงานวิจัยจาก Keck Medicine มหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย (USC) ทำงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสาร Clinical Gastroenterology and Hepatology เดือนมกราคม ค.ศ.2023 ให้ข้อสรุปว่าการกินอาหารขยะเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะไขมันสะสมในตับ นำไปสู่โรคไขมันพอกตับที่ไม่เกี่ยวกับการดื่มแอลกอฮอล์ (nonalcoholic fatty liver disease, NAFLD) ขอเรียกสั้น ๆ ว่า “โรคไขมันพอกตับ” ก็แล้วกัน
ทีมวิจัยแนะนำให้เลี่ยงการบริโภคอาหารขยะทั้งจากภัตตาคารฟาสต์ฟู้ด ประเภทแฮมเบอร์เกอร์ ไก่ทอด พิซซ่า โดนัท แพนเค้ก ลดละเลิกขนมหวานให้พลังงานสูงประเภท แคนดี้ ท็อฟฟี่ ช็อคโกแลต ซึ่งอุดมด้วยคาร์โบไฮเดรตประเภทย่อยง่าย ดูดซึมเร็ว ลดน้ำตาลทราย ไซรัปฟรุคโตส น้ำตาลและไขมันย่อยง่ายเหล่านี้เมื่อทะลักเข้าสู่กระแสเลือด เหนี่ยวนำให้เกิดการสะสมไขมันในตับเอาได้ งานวิจัยพบว่าผู้ป่วยโรคอ้วนหรือเบาหวานที่ได้รับพลังงานต่อวัน 20% หรือมากกว่านั้นจากอาหารขยะเสี่ยงที่จะเกิดภาวะไขมันพอกตับมากกว่าคนทั่วไปที่ไม่บริโภคอาหารจากภัตตาคารกลุ่มที่กล่าวถึง นอกจากนี้ยังพบอีกว่าคนทั่วไปที่ไม่อ้วนทว่าบริโภคพลังงานหนึ่งในห้าหรือมากกว่านั้นจากภัตตาคารอาหารขยะเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาไขมันพอกตับได้เช่นกัน
ตามปกติตับที่สุขภาพดีสะสมไขมันน้อยกว่า 5% ของน้ำหนักตับ หากสัดส่วนสูงกว่า 10% ย่อมหมายความว่าคนผู้นั้นเสี่ยงต่อโรคไขมันพอกตับ ทีมวิจัยให้ข้อแนะนำว่าการบริโภคอาหารในภัตตาคารฟาสต์ฟู้ดยังทำได้โดยเลือกอาหารที่ไม่ได้มาจากคาร์โบไฮเดตหรือไขมันที่ย่อยและดูดซึมเร็วที่ก่อโรคอ้วนได้ง่าย อาหารประเภทนั้นอันตรายต่อสุขภาพตับ ไขมันพอกตับนำไปสู่โรคตับอักเสบ (liver steatosis) ก่อให้เกิดปัญหาตับแข็ง (liver cirrhosis) เกิดแผลเป็นในตับที่อาจนำไปสู่มะเร็งตับซึ่งรักษาได้ยาก
ทีมวิจัยกังวลว่าระยะหลังปัญหาสุขภาพตับที่เริ่มจากการสะสมไขมันในตับพบได้มากขึ้น ยิ่งช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ปัญหาของคนที่มีปัญหาสะสมไขมันในร่างกายโดยเฉพาะอย่างยิ่งมีภาวะไขมันพอกตับมาก่อนหน้านั้น เกิดปัญหาแทรกซ้อนของโรคมากขึ้น ตรวจสอบดูแล้ว ส่วนสำคัญของปัญหามาจากการบริโภคอาหารขยะจากภัตตาคารประเภทนี้ที่มีอยู่กลาดเกลื่อนทั่วเมือง ภัตตาคารเหล่านี้ได้รับความนิยมสูง ทีมวิจัยจึงแนะนำให้ลดการบริโภคอาหารขยะ หากเป็นประเทศไทย แนะนำให้บริโภคอาหารไทยที่มีผักรวมทั้งผลไม้ในมื้ออาหารมากขึ้น ประพฤติตนได้อย่างนั้น ปัญหาไขมันพอกตับย่อมลดลงได้ นี่คือข้อแนะนำ
#ดรวินัยดะห์ลัน, #drwinaidahlan, #โรคไขมันพอกตับ, #อาหารขยะ