กินป้องกันสมองเสื่อม ตอนที่ 3 ไขมันในร่างกายและโรคอ้วน

บอกไว้ในตอนที่ผ่านมาว่าสมองเสื่อมกลุ่มใหญ่ ได้แก่ #ภาวะถดถอยด้านการรับรู้ (#Cognitive Decline หรือ CD) และ #โรคอัลไซเมอร์ (#Alzheimers Disease หรือ AD) สัมพันธ์ทางอ้อมกับโรคเบาหวานชนิดที่ 2 (T2D) และโรคหัวใจและหลอดเลือด (CVD) #โรคอ้วน (#Obesity) ความดันโลหิตสูง น้ำตาลในเลือดสูง ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ รวมถึงโรคเมแทบอลิก ที่น่าสังเกตคือโรคหรืออาการที่กล่าวถึงนี้มักมี #การสะสมของไขมันรอบอวัยวะ (#Visceral fat) เข้ามาเกี่ยวข้อง ไขมันที่สะสมตามอวัยวะที่ว่านี้เป็นผลมาจากการบริโภคมากเกินไปและภาวะเฉื่อย ร่างกายขาดการออกกำลังกาย ในตอนนี้ลองมาดูเรื่องไขมันในร่างกายกับโรคอ้วนและโรคสมองเสื่อมก็แล้วกัน การสะสมไขมันในร่างกายที่ตามมากับโรคอ้วนอันเป็นผลมาจากการกินมากเกินและร่างกายเฉื่อยขาดการออกกำลังกายสัมพันธ์กับสมองเสื่อมทั้ง CD และ AD อย่างแน่ชัด งานวิจัยทางการแพทย์ที่ติดตามศึกษากันในระยะยาว อย่างเช่นงานของ Emmerzaal TL และคณะตีพิมพ์ในวารสาร J Alzheimers Dis ค.ศ.2015 ทำการวิเคราะห์งานวิจัยที่ศึกษากันในระยะยาว 28 ชิ้นตีพิมพ์ระหว่าง ค.ศ.2003 ถึง 2013 โดยศึกษาอาสาสมัครยาวนานตั้งแต่ 5-40 ปี พบว่าอาสาสมัครที่มีปัญหาน้ำหนักตัวเกินปกติที่เรียกว่าท้วมไปจนกระทั่งถึงผู้ที่เป็นโรคอ้วนมีความเสี่ยงที่จะมีปัญหาปลายประสาทเสื่อมและสมองเสื่อมเพิ่มขึ้นถึง 2.44 เท่าเมื่อเทียบกับคนที่มีน้ำหนักตัวปกติ เห็นข้อมูลแล้วใครที่มีน้ำหนักตัวเกินพอดี เห็นทีต้องหาทางลดน้ำหนักตัวลงให้ได้ ซึ่งคำแนะนำมีอยู่มากมายลองไปเลือกปฏิบัติกันดู ความอ้วนหรือการสะสมไขมันในร่างกายเกี่ยวข้องอย่างไรกับภาวะสมองเสื่อม นักวิจัยทางการแพทย์ยังสรุปออกมาให้ชัดเจนไม่ได้ ลองมาดูสมมติฐานก็แล้วกัน รายงานวิจัยอย่างเช่นงานของ Jahangiri A และคณะตีพิมพ์ในวารสาร Obesity (Silver Spring) ค.ศ.2013 ระบุว่าคนอ้วนหรือคนที่เป็นโรคอ้วนมักมีการสะสมของโปรตีนอะไมลอยด์ (#Amyloid proteins) ที่มักไปสะสมอยู่ในเนื้อสมองทำให้เกิดอาการของโรค CD และ AD เริ่มด้วยอาการขี้หลงขี้ลืมจากนั้นจึงรุนแรงขึ้นเรื่อยๆเมื่ออายุมากขึ้น อีกสมมุติฐานคืองานวิจัยของ Gustafson DR. และคณะตีพิมพ์ในวารสาร J Intern Med ค.ศ. 2007 กล่าวว่าโรคอ้วนทำให้การส่งสารอาหารผ่านไปยังสมอง (BBB หรือ Blood Brain Barrier) เกิดความผิดปกติ ผลที่ตามมาคือภาวะสมองเสื่อม งานวิจัยของทีมแพทย์นำโดย Calder PC. ตีพิมพ์ในวารสาร Br J Nutr ค.ศ. 2011 และอีกหลายชิ้นยืนยันว่าการบริโภคอาหารพลังงานต่ำหรือแคลอรีต่ำ การลดน้ำหนักตัวลง การบริโภคอาหารที่มีฤทธิ์ #ลดภาวะอักเสบภายในร่างกาย ทำให้หลอดเลือดไม่สะสมไขมัน มีผลทำให้ความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะสมองเสื่อมไม่ว่าจะเป็น AD หรือ CD ลดลง ดังนั้น หากไม่อยากมีปัญหาสมองเสื่อมในวัยสูงอายุ ทางที่ดีหาทางลดน้ำหนักตัวหรือลดการสะสมไขมันในร่างกายลงจะดีกว่า #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *