สมองเสื่อมไม่ได้เกิดจากปัจจัยเรื่องอายุเพียงอย่างเดียว ยังมีปัจจัยอื่นเข้าไปเกี่ยวข้องอยู่ด้วยขึ้นกับแต่ละบุคคล มีตั้งแต่พันธุกรรม ฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมซึ่งรวมถึงโภชนาการ แต่ดูเหมือนปัญหาสมองเสื่อมที่พบในวันนี้อายุจะเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด สำหรับประเทศไทยที่ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็วแซงหน้าทุกประเทศในอาเซียน คาดการณ์ได้เลยว่าสัดส่วนของผู้ที่มีปัญหาสมองเสื่อมในประเทศไทยจะสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน จะแก้ไขกันอย่างไร การใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์ทางเภสัชและการแพทย์จนถึงวันนี้นักวิจัยยังค้นไม่พบยารักษาอาการสมองเสื่อมได้เลย สิ่งที่พอมีอยู่บ้างคือมาตรการป้องกันและบรรเทา ซึ่งสิ่งที่ดีที่สุดในเวลานี้คือ “#โภชนาการ” (#Nutrition) จากงานวิจัยพบว่าแต่ละปีในโลกมีผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมเพิ่มขึ้น 8 ล้านคน จำนวนนี้ 60-75% เป็นกลุ่มอาการของโรคอัลไซเมอร์ซึ่งเนื้อสมองถูกทำลาย งานวิจัยทางการแพทย์จำนวนมากถึง 51 ชิ้นยืนยันว่าการใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ใช้รักษาอาการสมองเสื่อมไม่ได้ ดีที่สุดเพียงการชะลอและป้องกันเท่านั้น ในการป้องกันหรือชะลอจำเป็นต้องดำเนินการก่อนเข้าวัยสูงอายุ หากเข้าวัยสูงอายุ ภาวะสมองเสื่อมที่เกิดขึ้นแล้วยากที่จะทำให้ดีขึ้นได้ ทำได้เพียงไม่ทำให้เลวลงกว่าเดิมเท่านั้น การใช้วิธีการใดวิธีการหนึ่งวิธีเดียวมักไม่ได้ผลดีสักเท่าไหร่ จำเป็นต้องปฏิบัติควบคู่กัน ดังเช่น ออกกำลังกายควบคู่โภชนาการ เสริมด้วยการพักผ่อน การทำสมาธิ ในที่นี้ขอกล่าวถึงด้านโภชนาการหรือการใช้อาหารเพียงอย่างเดียวเท่านั้นโรคสมองเสื่อม (Dementia) บางครั้งก็เรียกว่าประสาทเสื่อมมีอยู่หลายกลุ่มโดยมาจากหลายสาเหตุ ที่รู้จักกันดีคืออัลไซเมอร์ (Alzheimer’s) อย่างที่บอกไว้ว่าโรคกลุ่มนี้พบมากในผู้สูงอายุ นั่นหมายความว่าคนยุคใหม่ที่เรียกกันว่าเจนซี (Gen Z) และเจนอัลฟ่า (Gen Alpha) หรือคนที่เกิดมาในยุคสมาร์ทโฟนหรือคนที่เกิดหลัง ค.ศ.2000 มีแนวโน้มว่าจะมีอายุขัยเฉลี่ยเข้าใกล้ 100 ปี มองในแง่บวกคนเหล่านี้จะมีอายุยืนยาวขึ้น เห็นโลกนานขึ้น ในแง่ลบคือคนเหล่านี้จะทนทุกข์ทรมานกับภาวะสมองเสื่อมมากขึ้นและยาวนานขึ้น หากไม่หาทางป้องกันกันเสียตั้งแต่วันนี้ เห็นทีจะมีชีวิตอยู่ยากขึ้นในอนาคต หากต้องการมีชีวิตที่พอใช้ได้ก่อนเสียชีวิตในวัยชราควรเรียนรู้วิธีป้องกันโรคสมองเสื่อม คำแนะนำในขณะนี้เป็นอย่างนั้นการใช้กลไกทางโภชนาการในการบรรเทาปัญหาสมองเสื่อม ควรเข้าใจความเกี่ยวข้องระหว่างปัญหาทางโภชนาการของร่างกายกับการเกิด #ภาวะถดถอยด้านการรับรู้ (Cognitive Decline หรือ CD) และการเกิด #โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimers Disease หรือ AD) ซึ่งเป็นสองปัญหาสำคัญของปัญหาสมองเสื่อมเสียก่อน เป็นต้นว่าผู้ป่วยด้วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 (T2D) และโรคหัวใจและหลอดเลือด (CVD) มีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาสมองเสื่อมทั้ง CD และ AD ผู้ที่เป็นโรคอ้วน ความดันโลหิตสูง น้ำตาลในเลือดสูง ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ ผู้ที่มีปัญหาของโรคเมแทบอลิก เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาประสาทเสื่อมได้เช่นเดียวกัน การป้องกันโรคประสาทเสื่อมจึงต้องคอยดูแลสุขภาพอย่าให้เกิดปัญหาที่ว่านั้นด้วย #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน