กินข้าวกล้องลดโรคอ้วนลดเบาหวาน

รู้กันมานานว่าการบริโภคข้าวกล้อง (Whole grain) หรือข้าวที่ผ่านกระบวนการขัดสีต่ำย่อมดีกว่าการบริโภคข้าวขาว (Refined grain) ที่ผ่านกระบวนการขัดสีสูง ส่วนดีทางด้านไหนบ้าง ช่วยป้องกันเบาหวานไหม ลดโรคหัวใจและหลอดเลือดหรือเปล่ากลับไม่มีข้อมูลวิจัยที่เป็นมาตรฐานสนับสนุนมากนัก กลายเป็นเรื่องที่พูดกันปากต่อปากหรือมโนกันไปเอง ถึงเวลานี้มีงานวิจัยระดับโลกออกมายืนยันกันแล้ว ลองไปดูกันดีกว่างานวิจัยระดับคลาสสิกที่ได้รับการยอมรับสูง คืองานวิจัยในประชากรขนาดใหญ่ (Cohort study) ชิ้นที่ได้รับการยอมรับกันมากคืองานวิจัยที่เรียกว่า Flamingham study จากเมืองฟลามิงแฮม แมสสาชูเส็ตต์ สหรัฐอเมริกา เป็นงานวิจัยที่ติดตามศึกษาประชากรนับจำนวนแสนทั้งชายหญิงในแทบทุกวัย เริ่มกันตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 ติดตามข้อมูลกันหลายสิบปี ในส่วนของเรื่องข้าวกล้องกับข้าวขาว ทีมวิจัยมหาวิทยาลัยทัฟท์ (Tuft University) นำทีมโดย ศ.ดร.คาเล ซาวิกกี (Caleigh M Sawicki) ทำวิจัยโดยใช้ประชากรจาก Flamingham study อายุเข้าวัยกลางคนคือเกิน 50 ปี จำนวน 3,100 ราย ติดตามศึกษากันตลอด 18 ปีตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 นำข้อมูลด้านการบริโภคคาร์โบไฮเดรตที่เป็นข้าวขาวเปรียบเทียบกับข้าวกล้องมาเปรียบเทียบ วิเคราะห์และรายงานผลในวารสาร J Nutrition เดือนกรกฎาคม 2021 ที่ผ่านมานี้เองสรุปคือคนวัยกลางคนซึ่งมีแนวโน้มจะมีเส้นรอบเอวเพิ่มขึ้นหรือรอบเอวใหญ่ขึ้น และมีค่าน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นอันเป็นภาวะปกติ หากบริโภคข้าวกล้องเป็นประจำ พบว่าเส้นรอบเอวและระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นน้อยกว่ากลุ่มคนที่บริโภคข้าวขาวครึ่งหนึ่งหรืออย่างมีนัยสำคัญนั่นหมายถึงมีความเสี่ยงต่อโรคอ้วนและเบาหวานน้อยกว่า นอกจากนี้ค่าความดันโลหิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวล่างยังดีกว่า สรุปว่าทีมวิจัยแนะนำว่าเมื่อมีอายุมากขึ้นควรเพิ่มการบริโภคข้าวกล้องหรือข้าวขัดสีต่ำให้มากขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วน โรคเบาหวาน รวมทั้งความดันโลหิตสูง ในกรณีหลังแม้เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจและหลอดเลือด แต่ทีมวิจัยไม่สรุปว่าการบริโภคข้าวกล้องช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด เอาเป็นว่าช่วยลดปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดก็แล้วกัน #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #บริโภคข้าวกล้อง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *