หลายปีมานี้มีงานวิจัยในประชากรกลุ่มใหญ่ศึกษาเรื่องผลของ #การดื่มกาแฟต่อสุขภาพ กันค่อนข้างมาก ลองมาดูกัน ชิ้นแรกเป็นงานวิจัยที่ชื่อว่า the Nurses’ Health Study (อาสาสมัครหญิงล้วน) และ the Health Professionals’ Follow-up Study (อาสาสมัครชายล้วน) ใช้อาสาสมัครที่มีสุขภาพปกติหลายหมื่นจนถึงแสน
ผู้วิจัยติดตามเก็บข้อมูลด้านสุขภาพและโภชนาการรวมทั้งพฤติกรรมต่างๆของอาสาสมัครทั้งสองกลุ่มนานเป็นสิบปี ทีมวิจัยจากโรงพยาบาลหญิงบอสตันนำโดย ดร.คาริน มิเชลส์ (Karin B. Michels, Sc.D.)
ทำการวิเคราะห์ผลของการดื่มเครื่องดื่มที่มีสารกาเฟอีนของอาสาสมัครทั้งสองกลุ่มที่ว่านี้โดยดูอุบัติการณ์เกิดโรคมะเร็งทางเดินอาหารตอนปลาย ติดตามเก็บข้อมูลการดื่มเครื่องดื่มทั้งกาแฟ ชา โกโก้ ได้มากถึง 2 ล้านคน-ครั้ง
นำผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิจัยทางการแพทย์คือ J Natl Cancer Inst ค.ศ. 2005 ได้ผลสรุปออกมาว่าการบริโภคสารกาเฟอีนไม่ก่อปัญหาให้เกิดมะเร็งทางเดินอาหารตอนปลายทั้งมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง
ซึ่งในอดีตเคยเชื่อกันว่าเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนก่อปัญหามะเร็งกลุ่มนี้ แต่จากข้อมูลของนักวิจัยกลุ่มนี้กลับไม่พบปัญหา งานวิจัยเกี่ยวกับกาแฟมีอีกชิ้นหนึ่งเป็นการติดตามศึกษาอาสาสมัครหญิงจำนวน 84,214 คน ตั้งแต่ ค.ศ. 1980 ไปจนถึง ค.ศ. 2004 เปรียบเทียบผู้ที่ดื่มกาแฟไม่เกินวันละ 6 ถ้วยกับผู้ที่ไม่ดื่มกาแฟเลย
งานชิ้นนี้เป็นผลงานวิจัยของ ดร.เอสเธอ โลเปส-การ์เซีย (Esther Lopez-Garcia) และคณะตีพิมพ์ในวารสารวิจัย Annals of Internal Medicine เดือนมิถุนายน 2008 ได้ข้อสรุปออกมาว่าการดื่มกาแฟช่วยลดอัตราการตาย โดยผู้ที่ดื่มกาแฟธรรมดาวันละ 2-3 ถ้วย จะเสียชีวิตจากโรคหัวใจน้อยกว่าผู้ไม่ดื่มกาแฟถึงร้อยละ 25 หากพิจารณาสาเหตุต่างๆที่ไม่ใช่มะเร็งและโรคหัวใจการเสียชีวิตจะน้อยกว่ากันร้อยละ 18จากข้อมูลงานวิจัยทั้งสองชิ้นบ่งชี้ไปในสองลักษณะ
ประการแรกคือการดื่มกาแฟไม่ได้สร้างปัญหาทางด้านสุขภาพเช่นที่เคยเชื่อกันในอดีต ประการที่สองคือการดื่มกาแฟเป็นประจำอาจช่วยลดอุบัติการณ์เสียชีวิตจากโรคบางโรคได้ ส่วนกลไกทางชีวเคมีในเรื่องการป้องกันโรคจะเป็นอย่างไร จะมาจากสารกาเฟอีนหรือสารพฤกษเคมีตัวอื่นๆซึ่งมีอยู่มากมายในกาแฟ นักวิจัยยังไม่มีข้อมูล อ่านรายงานวิจัยของทั้งสองกลุ่มแล้ว เชื่อว่าพวกเราคงสบายใจกับการดื่มกาแฟ
ขออย่าให้มากเกินไป อย่างเช่นเกินวันละ 6 ถ้วยก็แล้วกัน #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน