มารู้จัก “การอักเสบ” (inflammation) กันก่อน การอักเสบอาจเกิดจากเชื้อโรค เช่น แบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา หรือเกิดจากการบาดเจ็บ หรือถูกรังสี โดยเกิดรอยแดง บวม ร้อน เจ็บปวด อวัยวะสูญเสียการทำหน้าที่ การอักเสบเกิดได้ทั้งภายนอกและภายในร่างกาย ตามปกติการอักเสบเป็นกลไกการปกป้องร่างกาย โดยเป็นส่วนหนึ่งของภูมิต้านทานโรค เกิดจากเซลล์สร้างสารอักเสบหรืออินฟลามาโซม (inflammasome) เช่น ไซโตไคน์ หรือสารอื่น หลั่งเข้าไปในบริเวณที่บาดเจ็บเพื่อให้ร่างกายปกป้องพื้นที่นั้นให้กลไกการรักษาเข้าไปทำหน้าที่ได้สะดวก การอักเสบหากทำหน้าที่ได้ไม่ดีอาจเรื้อรังขึ้นได้ ผลที่ตามมาคือเซลล์ เนื้อเยื่อ และอวัยวะถูกทำลาย เกิดแผลเป็นภายใน เนื้อเยื่อตาย รวมทั้งเกิดการทำลาย DNA นำไปสู่การพัฒนาของโรคต่างๆที่อาจทุพพลภาพหรือคุกคามถึงชีวิต ที่พบบ่อย เช่น มะเร็ง เบาหวานชนิดที่ 2 หรือโรคอื่นๆ การอักเสบทั้งภายนอกและภายในจึงก่อปัญหาต่อสุขภาพ ระยะหลังการป้องกันมิให้เกิดการอักเสบกลายเป็นกลไกสำคัญในมิติสุขภาพ ที่มี 4 แบบ ได้แก่ การส่งเสริม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟู สำคัญที่สุดในสังคมสมัยใหม่คือมิติด้านการส่งเสริม นักวิทยาศาสตร์พบว่าการอดอาหาร (fasting) ระยะสั้นๆ มีส่วนช่วยอย่างมากในกลไกส่งเสริมสุขภาพ เพียงไม่รู้ว่ามันทำงานอย่างไรต้น ค.ศ.2024 วารสาร Cell Reports ตีพิมพ์ผลงานวิจัยของทีมนักวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัย Cambridge ของสหราชอาณาจักร โดยค้นพบข้อดีของการอดอาหารซึ่งช่วยให้ร่างกายยับยั้งการสร้างสารอักเสบกลุ่ม NLRP3 inflammasome ผ่านกลไกของกรดไขมันโอเมก้าหกชนิด arachidonic ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์รู้ว่าการกินอาหารแบบตะวันตกปริมาณมากเกินไปก่อผลเสียทำให้เกิดโรคอ้วนที่นำไปสู่เบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โดยปัญหาเริ่มต้นจากภาวะอักเสบภายในอวัยวะที่เกิดจากสารอักเสบที่เรียกว่า inflammasome โดยตัวสำคัญที่พบบ่อยคือ NLRP3 สารอักเสบตัวนี้เข้าไปเกี่ยวข้องกับโรคหลายชนิด ได้แก่ โรคอ้วน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคสมองรวมถึงอัลไซเมอร์ พาร์กินสัน และอีกหลายโรคที่พบในผู้สูงอายุ รวมถึงการบั่นทอนอายุขัย ในงานการศึกษา ทีมวิจัยนำโดย Professor Clare Bryant ให้อาสาสมัครจำนวน 21 คน กินอาหารพลังงานต่ำ 500 กิโลแคลอรีจากนั้นอดอาหาร 24 ชั่วโมง ผลที่ได้คือระดับกรดไขมันโอเมก้าหกชนิด arachidonic เพิ่มสูงขึ้นในเลือด หลังจากนั้นเมื่อได้กินอาหารพลังงานต่ำอีกครั้ง กรดไขมันตัวนี้ลดลง ทีมวิจัยศึกษาต่อในหลอดทดลองพบว่าผลของการเพิ่มของ arachidonic ส่งผลให้ NLRP3 inflammasome ลดลง หมายถึงการเพิ่มของ arachidonic อันเป็นผลจากการอดอาหารออกฤทธิ์คล้ายยาแอสไพรินนั่นคือช่วยยับยั้งการอักเสบภายในอวัยวะได้ นี่คือคำตอบว่าเหตุใดการอดอาหารจึงช่วยปัองกันโรคต่างๆได้หลายโรคโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วยเพิ่มอายุขัยในผู้สูงวัย ผ่านกลไกการยับยั้งสารอักเสบนั่นเอง #ดรวินัยดะห์ลัน, #drwinaidahlan, #สารอักเสบ, #NLRP3, #การอดอาหาร