การละหมาดช่วยผ่อนคลายลดเครียด

เดือนรอมฎอนหรือเดือนที่ 9 ตามปฏิทินอาหรับ อิสลามกำหนดเป็นหลักปฏิบัติสำคัญหนึ่งในห้าไว้นั่นคือ #การถือศีลอด ในเดือนนี้ ไม่กิน ไม่ดื่ม ไม่เสพย์กาม ตั้งแต่แสงทองจับท้องฟ้าก่อนเช้ากระทั่งถึงดวงอาทิตย์ตกยามเย็น คนภายนอกเข้าใจว่ารอมฎอนเป็นเรื่องของการถือศีลอดเท่านั้น เอาเข้าจริงไม่ใช่เลย นอกเหนือจากการถือศีลอด มุสลิมหรือผู้นับถือศาสนาอิสลามยังปฏิบัติด้านอื่นพร้อมกันไปด้วย ได้แก่ #การละหมาดตะรอเวียะฮฺ ยามค่ำยาว 8 หรือ 20 รอกะอัต ตามด้วยการละหมาดวิตริ 1 หรือ 3 รอกะอัตรวม 9-23 รอกะอัต อีกทั้งยังมีเรื่องของการอ่านคัมภีร์อัลกุรอาน การรวบรวมสมาธิ การทำบุญสุนทาน รอมฎอนจึงมีวิถีปฏิบัติที่แตกต่างจากเดือนอื่นๆ บางครั้งเรียกว่า #วิถีปฏิบัติรอมฎอน หรือ #Ramadan Practices

#การถือศีลอดให้ประโยชน์ด้านสุขภาพ ขณะที่ #การละหมาดให้ประโยชน์ต่อสุขภาพกายและจิตใจเช่นกัน การละหมาดหากพิจารณาทางด้านการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ ข้อต่อ เส้นเอ็นต่างๆ พบว่าการละหมาดนับเป็นการออกกำลังกายแบบหนึ่ง เมื่อรวมถึงการกำหนดสมาธิระหว่างการละหมาด เคยมีนักวิชาการเปรียบเทียบการละหมาดกับโยคะที่มีทั้งการเคลื่อนไหวและการกำหนดจิตร่วมกัน ทางด้านประโยชน์ของการละหมาดเคยมีรายงานว่าเพียงการยืดตัวขึ้นจากท่าหมอบกราบเป็นท่ายืนตรงอย่างเดียว ช่วยให้กล้ามเนื้อน่องและขาแข็งแรงขึ้น การละหมาดของมุสลิมจึงนับเป็นการฝึกสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขาที่ดี

การละหมาดทั้งในเดือนรอมฎอนและนอกเดือนรอมฎอนให้ประโยชน์ต่อสุขภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งประโยชน์ต่อการลดความเครียดและการผ่อนคลาย รู้กันอยู่ว่าร่างกายของมนุษย์มีระบบประสาททำหน้าที่ในการออกคำสั่งการทำงานของกล้ามเนื้อ ควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายและหน้าที่อื่นๆ ในการควบคุมการทำงานทั้งหลายในร่างกายนั้นมีทั้งควบคุมภายใต้อำนาจจิตใจและนอกอำนาจจิตใจ ส่วนหลังนี้เรียกว่าระบบประสาทอัตโนมัติซึ่งแบ่งเป็นสองส่วนคือ #ซิมพาเทติค (Sympathetic) ซึ่งทำงานในเชิงการต่อสู้หรือความตื่นตัว #พาราซิมพาเทติค (Parasympathetic) ทำงานในเชิงความผ่อนคลาย เคยได้ยินข่าวคนที่ตกใจสามารถแบกตุ่มน้ำวิ่งหนีภัยอันตรายบ้างไหม นั่นเป็นผลจากการทำงานของระบบประสาทซิมพาเทติค

มีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยมาลายา ประเทศมาเลเซีย ใน ค.ศ.2014 โดย ดร.ฟาติมะฮฺ อิบราฮิม (Fatimah Ibrahim) และทีมงานตีพิมพ์ในวารสาร J Altern Complement Med ศึกษาผลของการละหมาดต่อการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติโดยใช้อาสาสมัครชายจำนวน 30 คน ทำการละหมาดโดยวัดค่า α relative power (RPα) ที่วิเคราะห์ได้จาก electroencephalography (EEG) สิ่งที่พบคือค่า (RPα) ของสมองส่วน occipital และ parietal regions เพิ่มขึ้น ผลการศึกษาได้ข้อสรุปว่าระหว่างการละหมาดการทำงานของระบบประสาทพาราซิมพาเทติคเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ระบบซิมพาเทติคทำงานลดลง สรุปว่า #การละหมาดส่งเสริมให้ร่างกายผ่อนคลาย ลดความกระวนกระวาย ลดความเสี่ยงจากอันตรายที่เกิดกับระบบการทำงานของหัวใจ รู้ผลดีอย่างนี้หากไม่ถือปฏิบัติรอมฎอนเลยคงไม่ได้แล้ว #drwinaidahlan#ดรวินัยดะห์ลัน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *