ผศ.(พิเศษ) ดร.บรรจง ไวทยะเมธา เป็นมุสลิมปัตตานีดำรงตำแหน่งระดับสูงในกระทรวงสาธารณสุข เกษียณอายุ พ.ศ.2549 โดยยังช่วยราชการจนต้น พ.ศ.2552 จึงตั้งใจกลับจากยะลามาอยู่บ้านที่ปัตตานี ปีนั้นเองผมชักชวนอาจารย์ให้มาช่วยจัดตั้งสำนักงานปัตตานีของศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล (ศวฮ.ปน.) อาจารย์บรรจงจึงช่วย ศวฮ.ปน.นับจากนั้นกระทั่งออกจาก ศวฮ.ปน.ไปเมื่อ พ.ศ.2559 โดยมี ผศ.นิฟาริด ระเด่นอาหมัด อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ที่เพิ่งพ้นตำแหน่งจากคณะกรรมการปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เข้ารับหน้าที่แทน
ผมพบ อ.บรรจงครั้งแรก พ.ศ.2539 เป็นช่วงที่ผมก่อร่างสร้างห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ฮาลาลในคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผมลงไปทำกิจกรรมทางสังคมกับทางสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย (ยมท.) บ่อย ๆ วันหนึ่งหลังการบรรยายเรื่องวิทยาศาสตร์ฮาลาลในงานของคุณหมออนันตชัย ไทยประทาน ที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา อาจารย์บรรจงพาชาวบ้านคนหนึ่งพร้อมลูกชายเข้ามาพบผมแจ้งว่าอยากขอบคุณที่ทำให้เขาสามารถส่งลูกชายเข้าเรียนมัธยมศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ได้ คุณพ่อของชายคนนั้นไม่ยินยอมให้หลานเรียนสาขาวิทยาศาสตร์เพราะกังวลว่าจะหลุดออกจากศาสนาอิสลาม ชายคนนี้อ้างชื่อผมจึงทำให้พ่อของเขายินยอมให้หลานเข้าเรียนทางวิทยาศาสตร์ พวกเราจึงตระหนักถึงปัญหาการศึกษาในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง นับจากนั้นผมตั้งเจตนาเรื่องงานพัฒนาวิทย์เทคโนในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง กลายเป็นที่มาของการจัดตั้ง ศวฮ.ปน.ขึ้นในที่สุด
ศวฮ.ปน.เวลานี้พัฒนางานด้านวิทย์เทคโนฮาลาลไปได้พอประมาณ เข้าไปช่วยราชการวางระบบการมาตรฐานฮาลาลที่เรียกว่า HAL-Q ในโรงงานอุตสาหกรรม วางระบบครัวฮาลาลในโรงพยาบาล โรงเรียน ร้านอาหาร โรงแรมในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ช่วยวางระบบครัวฮาลาลแม้กระทั่งในเรือนจำ ตลอดระยะเวลา 15 ปีที่พวกเราทำงานด้านวิทย์ฮาลาลในพื้นที่ภาคใต้ มีเรื่องน่าจดจำมากมาย เช่นว่าในวันหนึ่งผมได้รับโทรศัพท์จากทหารที่ปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส นายทหารแจ้งผมทางโทรศัพท์ว่าจับชายหนุ่มสองคนสวมเสื้อลำลองสีขาวกำลังลำเลียงถังสารเคมีในพื้นที่ หลังทำการสอบถาม ชายทั้งสองยืนยันว่าเป็นข้าราชการสังกัด ศวฮ.ปน. กำลังนำน้ำยาทำความสะอาดส่งโรงพยาบาลในพื้นที่ห่างไกล ทหารแปลกใจว่าข้าราชการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ มาทำอะไรในพื้นที่ห่างไกลอย่างนั้น เมื่อได้ข้อมูลจากผมจึงหายสงสัย ปล่อยตัวเจ้าหน้าที่ ศวฮ.ปน.ในที่สุด
ศวฮ.ปน.เข้าไปช่วยงานราชการในพื้นที่เสี่ยงภัยที่เรียกว่าพื้นที่สีแดงบ่อยครั้ง ทำงานขันแข็งจนกระทั่งได้รับการเชิดชูเกียรติจากทางราชการหลายรางวัล มีส่วนอย่างสำคัญในการใช้วิทย์เทคโนในการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มุ่งเน้นงานพัฒนานวัตกรรม ร่วมกับหลายโรงเรียนสร้างนวัตกรตัวน้อย พวกเราเชื่อว่าการพัฒนาคนคือแนวทางสำคัญในการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง เราเชื่อมั่นและดำเนินงานในแนวทางนั้นมาตลอด
#ดรวินัยดะห์ลัน, #drwinaidahlan, #ศวฮปัตตานี, #ศวฮ