ความร่วมมือทางเศรษฐกิจสามประเทศ IMT-GT เริ่มเช้าวันนี้ พุธที่ 27 กันยายน 2566 ที่โรงแรม Batam Marriott Harbour Bay เมืองบาตัม เกาะบาตัม จังหวัดเรียว อินโดนีเซีย IMT-GT เริ่มใน พ.ศ.2536 (ค.ศ.1993) ปีนี้จึงครบรอบ 30 ปี การประชุม IMT-GT แบ่งเป็น 4 ระดับ 1.การประชุมระดับ IMT-GT Working Group Meeting ซึ่งมี 8 กลุ่ม โดยศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศวฮ.) ทำหน้าที่เป็นเลขานุการฝ่ายไทยของกลุ่ม Halal Products and Services (HAPAS); 2.การประชุมระดับ IMT-GT Senior Officials Meeting (SOM) สรุปผลการประชุมจาก 1.; 3.IMT-GT Chief Ministers & Governers Forum (CMGF) ระดับรัฐมนตรีและผู้ว่าราชการจังหวัด; 4.IMT-GT Summit Meeting ระดับผู้นำประเทศการประชุมระดับที่ 1 แต่ละกลุ่มร่วมจัดกัน ระดับที่ 2, 3 จัดเป็นการประชุมใหญ่เช่นที่เกิดที่บาตัมครั้งนี้ ระดับที่ 4 จัดร่วมกับการประชุมผู้นำประเทศอาเซียน งานประชุม IMT-GT จึงเป็นวาระสำคัญ ทาง ศวฮ.ส่งทีมงานเข้าร่วมระดับ 1,2,3 มาโดยตลอด ผมเองร่วมงาน IMT-GT ตั้งแต่ พ.ศ.2545 (ค.ศ.2002) หนึ่งปีก่อนการจัดตั้ง ศวฮ.และเข้าร่วมด้วยตนเองมาโดยตลอด บางครั้งยังเป็นเจ้าภาพจัดประชุมระดับ 1 และ 2 ทำงานต่อเนื่องกว่า 20 ปีจึงค่อยๆถอนตัว มอบหมายให้ทีมงานเข้าร่วมแทนนับตั้งแต่ พ.ศ.2560 (ค.ศ.2017) มาครั้งนี้นี่แหละที่ทางทีมงานขอให้ผมมาร่วมทักทายเพื่อนเก่าๆจากมาเลเซีย อินโดนีเซีย และประเทศไทยสักหน่อยผมหายหน้ามานานเกินห้าปี อะไรต่ออะไรเปลี่ยนแปลงไปมาก จากที่เคยนั่งแถวหน้า ผมย้ายมาอยู่แถวสอง หากหายไปอีกสักพัก คงต้องย้ายไปนั่งหลังห้องและนอกห้อง เป็นวัฏจักรที่ต้องยอมรับ การเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างนี้ทั้งสามประเทศ หลังจากนี้ทีมงานหนุ่มสาวของ ศวฮ.จะเข้ามาแทนที่ผมเต็มตัว วันนี้ทางภาครัฐของสามประเทศยังเป็นผู้นำในการประชุม แต่อีกสักสองสามปี ภาคเอกชนจะกลายเป็นผู้นำ หากหวังจะแข่งขันกับยุโรปและอเมริกา ทาง IMT-GT ต้องผลักดันภาคเอกชนให้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำให้ได้ #ดรวินัยดะห์ลัน, #drwinaidahlan, #imtgt, #batam