วันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ.2566 หรืออีกประมาณสามเดือนนับจากนี้ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศวฮ.) จะครบรอบ 20 ปีของการถือกำเนิด โดยนับจากวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ.2546 ซึ่งคณะรัฐมนตรีเวลานั้นมีมติให้งบประมาณสนับสนุนสามปี พ.ศ.2547-2549 แก่คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดตั้งห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์เพื่อสนับสนุนกิจการฮาลาลของประเทศไทยขึ้น ห้องปฏิบัติการดังกล่าวต่อมาตอนปลาย พ.ศ.2547 สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีมติอนุมัติให้จัดตั้งเป็นศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล (ศวฮ.) ในการกำกับของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อันที่จริงงานวิทยาศาสตร์ฮาลาลเริ่มมาก่อนหน้า พ.ศ.2546 แล้ว โดยเริ่มในรูปห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ในคณะสหเวชศาสตร์มาตั้งแต่ต้น พ.ศ.2538 เหตุนี้เอง คณะกรรมการบริหาร ศวฮ. จึงเห็นชอบให้นับวันที่มีมติคณะรัฐมนตรีใน พ.ศ.2546 เป็นวันคล้ายวันถือกำเนิด ศวฮ. ดังนั้น เพื่อเฉลิมฉลองการครบวาระ 20 ปีให้เป็นทางการสักหน่อย ผมในฐานะผู้อำนวยการผู้ก่อตั้ง ศวฮ.จึงจัดทำหนังสือที่ระลึกขึ้นมาหนึ่งเล่มชื่อ “กว่าจะเป็น ศวฮ. สถาบันด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลแห่งแรกในโลก” เล่าเรื่องราวของ ศวฮ.ให้ทุกคนได้รับทราบ โดยเขียนเป็นตอนๆ รวมประมาณ 10 ตอนเป็น 1 ภาค เขียนทั้งสิ้น 5 ภาค เพื่อให้เป็นที่รับรู้กันทั่วไปภาคที่ 1 ตอนที่ 1.1 สถาบันด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลแห่งแรกในโลกยังจดจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ.2549 ในงาน World Halal Forum ณ โรงแรม The Crowne Plaza Mutiara กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ได้ไม่เคยลืม งานวันนั้น ผมในฐานะผู้ก่อตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศวฮ.) ได้รับเชิญให้ขึ้นรับรางวัล The Halal Journal Award of Best Innovation in Halal Industry จากดาโต๊ะ สรี อับดุลลา บินหะยีอะหมัด บาดาวี นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เชิดชูเกียรติงานวิทยาศาสตร์ฮาลาลที่ผมพัฒนาขึ้นที่คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งผมดำรงตำแหน่งคณบดีในเวลานั้น เป็นการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสนับสนุนงานอุตสาหกรรมฮาลาล มีการประกาศในงานด้วยว่า ศวฮ.คือสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลแห่งแรกที่ถือกำเนิดขึ้นในโลก ฟังแล้วขนลุกซู่ ทั้งภูมิใจทั้งแปลกใจ ไม่เคยรู้มาก่อนว่างานที่ผมเริ่มต้นขึ้นในคณะสหเวชศาสตร์ตั้งแต่ พ.ศ.2538 เพื่อปกป้องผู้บริโภคมุสลิมคืองานด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลที่ไม่เคยเกิดขึ้นที่ใดในโลกมาก่อนก่อนหน้านั้น ผู้บริหารบริษัท KasehDia Sdn BhD เจ้าของนิตยสาร The Halal Journal มาเลเซีย ในฐานะผู้จัดงาน World Halal Forum (WHF) ของรัฐบาลมาเลเซีย ยกทีมมาเยี่ยมห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ฮาลาลที่คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งที่อาคาร 14 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และที่อาคารวิทยกิตติ์ สยามสแควร์ โดยผมไม่ล่วงรู้เลยว่านั่นคือขั้นตอนการคัดเลือกผู้รับรางวัล ทราบในภายหลังจากหนึ่งในกรรมการตัดสินว่ารางวัลนี้เป็นรางวัลด้านนวัตกรรม ทางคณะกรรมการจึงถกกันค่อนข้างมากว่าหน่วยงานใดจากประเทศไหนควรเป็นผู้รับรางวัลเนื่องจากต้องนำลงเป็นบทความตีพิมพ์ในนิตยสาร The Halal Journal ในปีนั้น คือฉบับเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม และฉบับเดือนกันยายน-ตุลาคม ทั้งเป็นรางวัลที่รับจากมือนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย จำเป็นต้องพิถีพิถันกันให้มากหน่อย สุดท้ายรางวัลตกอยู่กับ ศวฮ. ผมจึงภูมิใจกับรางวัลนี้มาก รางวัลนี้มีส่วนผลักดันให้ผมกลายเป็นหนึ่งใน 500 มุสลิมผู้ทรงอิทธิพลของโลกสาขาวิทยาศาสตร์ (The World’s 500 Most Influential Muslims) ยาวนาน 14 ปีติดต่อกันนับแต่ พ.ศ.2553 ถึง พ.ศ.2566 วารสาร The Halal Journal ฉบับเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม พ.ศ.2549 กล่าวอ้างคำพูดของผมในการสัมมนาหัวข้อ The True Powers of Halal ในงาน WHF ครั้งนั้นที่ว่า “เพื่อปกป้องคุ้มครองผู้บริโภค สังคมประเทศพัฒนาแล้วต่างใช้เทคโนโลยีระดับสูงในการดำเนินงาน เราจะยอมให้สังคมมุสลิมใช้ดาบขึ้นสนิมกระนั้นหรือ กรณีความปลอดภัยด้านจิตวิญญาณของผู้บริโภคมุสลิม เราต้องถามตัวเองว่าเราปกป้องคุ้มครองพวกเขาได้ดีเพียงใด ด้วยวิธีการแบบไหน” เป็นเพราะตระหนักเช่นนี้จึงนำไปสู่การจัดตั้งห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ฮาลาลขึ้นที่คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ พ.ศ.2538 สร้างผลงานกระทั่งได้รับมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ.2546 ให้จัดตั้งเป็นห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ฮาลาล คณะสหเวชศาสตร์ หลังจากนั้นหนึ่งปี สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีมติในการประชุมครั้งที่ 658 วันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ.2547 ให้แยกออกจากคณะสหเวชศาสตร์ ยกระดับขึ้นเป็น “ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” (ศวฮ.) มีผลงานมากมาย สร้างความภาคภูมิใจให้กับสังคมนับแต่ครั้งนั้นมาจนตราบเท่าทุกวันนี้#drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #กว่าจะเป็นสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลแห่งแรกในโลก, #ศวฮ.