ดูที่กราฟการติดเชื้อรายวันของประเทศไทยทำนายได้เลยว่าหากยังคงลดลงด้วยสไตล์ยึกยักและอ้อยอิ่งเช่นนี้ กว่าจะลดลงต่ำกว่าพันต่อวันคงเข้า พ.ศ.2565 เป็นที่เรียบร้อย ทั้งนี้ด้วยเงื่อนไขว่าจะไม่เกิดเวฟใหม่ขึ้นมาอีก ส่วนจะกลายเป็นประเทศที่การติดเชื้อลดลงช้าที่สุดหรือไม่ ก็อาจไม่เป็นเช่นนั่น ดูที่กราฟติดเชื้อรายประเทศ เห็นได้ว่าเวลานี้เวียตนามขยับขึ้นมาเป็นคู่จิ้นกับประเทศไทยแล้ว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เองก็แสดงอาการอ้อยอิ่ง ยึกยัก ไม่ต่างจากประเทศไทยสักเท่าไหร่ การกดกราฟติดเชื้อรายวันให้ต่ำกว่าพันจึงไม่ใช่เรื่องง่าย กลุ่มต่ำพันยังคงมีเพียงสี่ประเทศเจ้าเก่าคือ อินโดนีเซีย เมียนมาร์ กัมพูชา และบรูไน น่าแปลกใจหรือไม่ที่อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา แม้การติดเชื้อรายวันลดลงได้มากขนาดนี้ ยังรีรอกับการตัดสินใจเปิดประเทศเช่นเดียวกับประเทศไทย เชื่อว่ามีบางปัจจัยที่ทำให้ประเทศเหล่านั้นยังระร้าระรังกับการเปิดประเทศ การจัดการการระบาดในแต่ละประเทศยังมีข้อมูลบางอย่างที่ต่างฝ่ายต่างเก็บงำไว้ บางประเทศใช้วิธีบริหารจัดการ (Administration) บางประเทศใช้วิธีบริหารจัดแจง (Manipulation) ค่อนข้างมั่นใจว่าประเทศไทยใช้วิธีแรกจึงเกิดความกล้าตัดสินใจ เมื่อพิจารณาสถานการณ์ติดเชื้อของแต่ละประเทศทั่วโลก คาดการณ์ได้ว่าหากต้องการเห็นการระบาดสงบลงคงไม่มีทางเกิดขึ้นได้ เพราะคงลากยาวไปอีกหลายปี สิ่งที่ทุกประเทศจำเป็นต้องทำคือเร่งฉีดวัคซีนเข็มสาม สี่ จากนั้นปล่อยให้โรคระบาดทั้งโลก (Pandemic) ค่อยๆปรับตัวเป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) เช่นที่เคยเกิดกับไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ต่างๆในอดีตมาแล้ว เป็นเช่นเดียวกับที่นายกรัฐมนตรีลีเซียนลุงของสิงคโปร์เคยกล่าวไว้ นั่นคือเราต้องหยุดติดตามการแพร่ระบาดของโรคโดยมนุษย์จำเป็นต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโก-วิดให้ได้ ไม่มีทางเลือกอื่น รายงานรายวันของศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับมูลนิธิมุฮัมมะดียะฮฺ และธาอะคาเดมี จะรายงานให้พวกเราติดตามอีกสักระยะหนึ่ง เอายังงั้นก็แล้วกัน