ตอนนี้ใครๆก็โหนกระแสโควิด-19 กันใหญ่ หลายคนกลายเป็นดารากลายเป็นนักวิชาการกันง่ายๆผ่านยูทูป สร้างรายได้สร้างความนิยมผ่านยอดแชร์ยอดไลค์ ในแง่บวกถือว่าดีแต่แง่ลบคือจำเป็นต้องกรองกันหน่อย
ช่วงนี้มีนักวิชาการสำเร็จรูป (instant academician) เกิดขึ้นมาก คล้ายบะหมี่สำเร็จรูป บางคนอาศัยหน้าตาดี บุคลิกดี พูดจาน่าฟัง ทว่านำเสนอข้อมูลวิชาการที่น่าสงสัย ตัวอย่างที่พบเวลานี้เช่นข้อมูลวิชาการด้านโภชนาการ มีบางรายแนะนำให้งดดื่มนมโดยอ้างว่ากดภูมิต้านทาน เร่งภาวะอักเสบ ทั้งที่ข้อมูลทางวิชาการกล่าวว่านมช่วยเพิ่ม IgG เสริมภูมิต้านทาน ให้ข้อมูลว่าแป้ง น้ำตาล เร่งภาวะอักเสบ เร่งการจับตัวของเม็ดเลือดแดง พูดเรื่องไวรัสโคโรน่าเจาะเม็ดเลือดแดง ยับยั้งเม็ดเลือดขาว จิปาถะ เผยแพร่ข้อมูลที่หาแหล่งอ้างอิงทางวิชาการด้านการแพทย์และโภชนาการไม่ได้เช่นนี้ กว่าโควิด-19 จะชะลอตัวลง เกษตรกรโคนม ชาวไร่ ชาวนา ปลูกธัญพืช ปลูกอ้อยจะหมดตัวกันหมด
ข้อมูลทางวิชาการจะต้องพิจารณาทั้งสองด้าน ไม่ใช่ด้านเดียวเช่นที่นำเสนอ ขอฝากกระทรวงสาธารณสุข สมาคมวิชาชีพด้านโภชนาการ ด้านการกำหนดอาหาร การพยาบาล การแพทย์ ฯลฯ ว่านอกจากดูแลการแพร่ “ไวรัส” (virus) โควิด-19 แล้วช่วยกันดูแลการแพร่ “ไวรัล” (viral) จากนักวิชาการสำเร็จรูปพร้อมกันไปด้วยจะดีที่สุด
หมายเหตุ Viral มาจากสองคำรวมกัน virus+oral ไวรัสนั้นแพร่ขยายอย่างรวดเร็ว oral คือปากหรือคำพูดหรือการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆรวมทั้งออนไลน์ ไวรัลจึงเป็นการแพร่ผ่านสื่ออย่างรวดเร็วเหมือนไวรัส