กรดไขมันโอเมก้าสามเหตุใดจึงมีมากในเนื้อปลาทะเลลึก

ถึงวันนี้ยอมรับกันแล้วว่ากรดไขมันโอเมก้าสาม (Omega 3 fatty acids) โดยเฉพาะอย่างยิ่งชนิด “อีพีเอ” (EPA) และ “ดีเอชเอ” (DHA) ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสุขภาพของหัวใจ หลอดเลือด สมอง และดวงตา มีศักยภาพสูงในการลดภาวะอักเสบ (Anti inflammation) ในร่างกาย ปลาทะเลที่มีน้ำมันในเนื้อสูงซึ่งส่วนใหญ่เป็นปลาจากทะเลลึกอุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้าสามชนิดที่ว่านี้ ยิ่งปลามีความมันในเนื้อสูง อย่างปลาเฮอริ่ง แซลมอน ซาร์ดีน เรนโบว์เทราท์ แมคเคอเรล โอเมก้าสามในเนื้อยิ่งมีมาก ส่วนปลาทู ปลาโอ ปลาอินทรีจากอ่าวไทย รวมทั้งปลาทูน่ามีปริมาณโอเมก้าสามพอสมควร ไม่มากเท่าปลาทะเลกลุ่มแรกอีพีเอและดีเอชเอมีโครงสร้างโมเลกุลค่อนข้างพิเศษ มีโมเลกุลม้วนเป็นวง ความยาวโมเลกุลสูง พันธะคู่จำนวนมาก อีพีเอมี 5 คู่ ดีเอชเอมี 6 คู่ ความพิเศษเช่นนี้ใช้กลไกที่ไม่ธรรมดาในการสร้าง แพลงตอนบางสายพันธุ์ สาหร่ายบางกลุ่มรวมถึงแบคทีเรียบางชนิดที่อาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมค่อนข้างโหดอย่างน้ำทะเลลึกที่มีอุณหภูมิต่ำสามารถสร้างความยาวของกรดไขมันและสร้างพันธะคู่เปลี่ยนกรดไขมันโอเมก้าสามความยาวปกติให้เป็นอีพีเอและดีเอชเอได้ เพื่อปรับตัวในสภาวะที่ไม่ปกติของสิ่งแวดล้อม ทั้งความดันไฮโดรสแตติกที่สูงและอุณหภูมิที่ต่ำ สภาวะหฤโหดเช่นนี้เองเป็นผลให้พืชและสัตว์ทั่วไปสร้างกรดไขมันอีพีเอและดีเอชเอไม่ได้การสังเคราะห์อีพีเอและดีเอชเอใช้เอนไซม์ PFA synthase สร้างจากกรด 2 คาร์บอนไม่ใช่ 18 คาร์บอน นักวิทยาศาสตร์พยายามสร้างความเข้าใจกลไก เพื่อในอนาคตจะได้หาทางสร้างกรดไขมันเหล่านี้ได้เอง ร่างกายมนุษย์วันนี้จำเป็นต้องได้รับกรดไขมันอีพีเอและดีเอชเอจากปลาทะเลลึกซึ่งได้กรดไขมันกลุ่มนี้จากอาหารคือแบคทีเรียและแพลงตอน ปลาทะเลน้ำลึกที่มีไขมันในเนื้อสูง มีกรดไขมันโอเมก้าสามมากถึงร้อยละ 30 ของกรดไขมันทั้งหมด หากเป็นปลาทะเลที่มีไขมันในเนื้อน้อย อย่างเช่น ปลาค้อด จะเก็บไขมันโอเมก้าสามไว้ในตับ ขณะที่ในเนื้อปลาค้อดมีกรดไขมันโอเมก้าสามต่ำกว่าปลาที่มีไขมันในเนื้อสูงอยู่สามเท่า ปริมาณกรดไขมันโอเมก้าในปลาทะเลแตกต่างกันขึ้นกับชนิดของปลา และตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ของแหล่งน้ำที่ปลาอาศัย เป็นต้นว่า ปลาจากแอตแลนติคมีอีพีเอสูง ขณะที่ปลาจากแปซิฟิกมีดีเอชเอสูง ใครอยากได้รับกรดไขมันโอเมก้าสามมากจำเป็นต้องบริโภคปลาทะเลลึกที่กล่าวถึงข้างต้น การบริโภคน้ำมันตับปลาจะได้กรดไขมันโอเมก้าสามพอสมควรโดยต้องระวังภาวะวิตามินเอเป็นพิษเนื่องจากได้รับมากเกินไปสักหน่อย ใครบริโภคปลาทะเลน้อย เป็นปลาทะเลที่มีกรดโอเมก้าสามไม่สูงนัก หาทางแก้ไขได้ด้วยการเสริมกรดไขมันโอเมก้าสามจากผลิตภัณฑ์น้ำมันปลา สนใจอ่านเพิ่มเติมได้ใน Rebecca Wall et al. Nutrition Reviews พฤษภาคม 2010 #drwinaidahlan, #ดรวินัยดะห์ลัน, #กรดไขมันโอเมก้าสาม, #ปลาทะเล

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *