กงล้อประวัติศาสตร์กับเส้นทางสายไหมเก่าและใหม่

กงล้อประวัติศาสตร์กับเส้นทางสายไหมเก่าและใหม่

ปลายเดือนเมษายน 2019 จีนจัดประชุมใหญ่ BRF (Belt Road Initiative Forum) ขอเรียกว่าเส้นทางสายไหมใหม่ (New Silk Road) ก็แล้วกัน มีบุคคลระดับผู้นำเข้าร่วมจาก 37 ประเทศรวมจีน ขณะที่อินโดนีเซียส่งรองประธานาธิบดี แม้มีประเทศเข้าร่วมมากกว่าการประชุมครั้งที่ 1 แต่หลายประเทศไม่ส่งผู้แทนเข้าร่วมอย่างอินเดีย กลุ่มประเทศตะวันออกกลางมีเพียงยูเออีเท่านั้น ยุโรปตะวันตกหายไปแทบหมดมีเพียงโปรตุเกส อัฟริกาเข้าร่วมไม่กี่ประเทศ สหรัฐอเมริกาเชิญไปแล้วแต่ไม่ร่วม ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวันไม่ได้รับเชิญ

มองยุทธศาสตร์จีนกรณีการฟื้นฟูเส้นทางสายไหมใหม่ หากได้รู้จักเส้นทางสายไหมเก่าในเชิงประวัติศาสตร์อาจพอเข้าใจเรื่องราวของเส้นทางสายนี้ทั้งอาจเป็นไปได้ว่าเหตุใดสหรัฐอเมริกากับโลกตะวันตกพยายามคัดค้านโดยอ้างว่านี่คือนโยบายการส่งออกกับดักหนี้ (Debt trap) ของจีน เหตุผลจริงจะเป็นอย่างไรยากที่จะคาดเดา หากลองเชื่อมโยงเส้นทางสายไหมเก่ากับเส้นทางสายไหมใหม่คงพอเห็นอะไรได้บ้าง ก่อนอื่นต้องบอกว่าเส้นทางสายไหมเก่ามีตัวตนจริงหรือไม่นั้นไม่รู้ รู้แต่ว่าเส้นทางการค้าเชื่อมโยงระหว่างยุโรป อัฟริกา ตะวันออกกลางกับจีน อินเดีย ตะวันออกไกล ทั้งทางบกและทางทะเลตั้งแต่ยุคโบราณนั้นมีแน่นอน มีทั้งเส้นทางสายยาวนับพันไมล์และสายสั้นเชื่อมระหว่างเมือง เส้นทางที่ว่านี้สร้างความรุ่งเรืองให้กับโลกอิสลามในอดีตอย่างมาก เมื่อยุโรปขัดแย้งกับโลกอิสลามช่วงสงครามครูเสด ชาวยุโรปจึงเริ่มแสวงหาเส้นทางการค้าสายใหม่

ค.ศ.1453 อาณาจักรออตโตมันหรืออุสมานียะฮฺของมุสลิมเติร์กเข้ายึดครองเมืองหลวงของโรมันตะวันออก มุสลิมรุกเข้าสู่ยุโรป ความกังวลต่อเส้นทางการค้าระหว่างยุโรปผ่านเส้นทางสายไหมเก่ายิ่งทวีมากขึ้น ปัญหานี้เร่งให้เกิดการรวมตัวของอาณาจักรคาสติลล่ากับอารากอนในสเปน ผลที่ตามมาคืออาณาจักรสุดท้ายของมุสลิมในยุโรปตะวันตกคือเกรนาดาถูกกองทัพสเปนใหม่รุกรานหนัก ถึง ค.ศ.1492 เกรนาดาก็ตกเป็นของสเปนภายใต้ราชินีอิซาเบลลาที่ 1 ความมุ่งมั่นของสเปนที่จะเดินทางสู่จีน อินเดียและตะวันออกไกลโดยไม่ผ่านโลกอิสลามยิ่งทวีมากขึ้น เป็นที่มาของการสำรวจเส้นทางตะวันตกผ่านมหาสมุทรแอตแลนติกของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ใน ค.ศ.1492 เกิดการค้นพบอเมริกา กระทั่งสามร้อยปีหลังจากนั้นชาติต่างๆในทวีปอเมริกาจึงถือกำเนิดขึ้น จะบอกว่าการแตกดับของเส้นทางสายไหมเก่าคือการกำเนิดของโลกใหม่อเมริกาก็ไม่น่าจะผิด

เข้ายุคปัจจุบัน จีนคล้ายกำลังหมุนกงล้อประวัติศาสตร์กลับ อาจไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่เล่าข้างต้น แต่จะว่าไม่มีประเด็นทางประวัติศาสตร์เกี่ยวข้องเลยก็คงไม่ถูก เส้นทางสายไหมใหม่พยายามดึงเอเชีย ยุโรปและอัฟริกาให้หันมาหาจีน เน้นการเชื่อมโยงทางบกมากกว่าทางน้ำ อเมริกาเหนือใต้ได้ประโยชน์น้อยที่สุด ขณะที่จีนได้ประโยชน์มากที่สุด ในเมื่อมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องจึงไม่แปลกใจที่ยุโรปตะวันตก อเมริกาเหนือใต้ แม้กระทั่งตะวันออกกลางและอัฟริกาที่ยืนข้างสหรัฐอเมริกาลังเลที่จะเข้าร่วม บางฝ่ายอาจกังวลกันจนเกินเหตุว่าเมื่อกงล้อประวัติศาสตร์หมุนกลับ เส้นทางสายไหมใหม่อาจกลายเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดการแตกดับทางเศรษฐกิจของยุโรปและอเมริกา การถอยออกมาดูเหตุการณ์อยู่ห่างๆจึงน่าจะดีกว่า บางฝ่ายอาจคิดกันอย่างนั้น